“ปานเทพ” ตอบคำถาม“สุทิน คลังแสง” ส.ส.พูดไม่หมด กฎหมายกัญชากัญชง ยันมีบทลงโทษจำคุกหากนำไปใช้กับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

  • ปรับ งัด สูตรยาสมัย ร.5 ภูมิปัญญาไทย
  • ให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรและใช้ยาได้เอง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. ….อีกทั้งยังมีการกล่าวหาที่มีการตัดตอนไม่อ่านบทบัญญัติที่มีการเชื่อมโยงให้ครบ หรือตีความเอาเอง แต่ทำให้คณะกรรมาธิการฯได้รับความเสียหาย เพราะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อความเข้าใจต่อสังคมดังต่อไปนี้

ประการแรก นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่ากฎหมายฉบับนี้สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชา ซึ่งเป็นความเท็จ สำหรับเรื่องเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร เป็นกลุ่มเปราะบางที่คณะกรรมาธิการฯให้ความสำคัญมากที่สุด จึงมีการกำหนดโทษห้ามขายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 37 หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 40 ให้จำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และยังมีบทบัญญัติว่าหากได้มีการกระทำผิดและมีบทลงโทษอื่นๆ แล้วนำมาขายกับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร “บทลงโทษนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากอัตราโทษเดิม” อีกด้วย ปรากฏตามบทบัญญัติมาตรา 40/7 และด้วยการบังคับให้มีการตรวจสอบอายุ กฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 37/1 จึงห้ามขายออนไลน์ หรือขายผ่านเครื่องขาย และการโฆษณาช่อดอก รวมถึงการโฆษณาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การสูบกัญชา ตามบทบัญญัติมาตรา 28 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการขายจะถูกควบคุมมิให้ไปกระทบต่อเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร

นอกจากนั้นผู้รับอนุญาต(ทำธุรกิจกัญชา กัญชง) รวมทั้งผู้จดแจ้ง (ปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน) ยังมี “หน้าที่” ตามบทบัญญัติมาตรา 20/5(6) และมาตรา 20/6(6) คือจะต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภค กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองเยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรด้วย

และผู้จดแจ้งยังมีหน้าที่ตามมาตรา 20/5(2) ในการปลูกใช้ในครัวเรือนจะต้องจัดสถานที่เพาะปลูกให้มีมาตรการป้องกันมิให้เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เข้าถึงกัญชา กัญชง หากไม่ดำเนินการย่อมสามารถถูกเพิกถอนการจดแจ้งและการอนุญาตได้ทันที และหากมีการให้เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรใช้กัญชา ย่อมมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน

นอกจากนั้นผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะปลูกได้ทั้งการขอจดแจ้งและการขออนุญาต และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีหากปลูกและขาย (รวมทั้งมีการจัดเก็บไว้)หรือให้โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบทบัญญัติมาตรา 37/14 เป็นอันว่าข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อส่งเสริมการนันทนาการของเยาวชนนั้นจึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น



ประการที่สอง นายสุทิน คลังแสง ยังยึดติดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง และคิดว่าการสูบคือความผิด งานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คน พบว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุด 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้าสูงสุด 22.7% และหากเสพกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียง 8.9%

และเมื่อกัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่ประเทศไทยกลับปล่อยให้เหล้าและบุหรี่สามารถขายได้ตามร้านค้าทั่วไปรวมถึงร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่กัญชามีสรรพคุณทางยามหาศาล การตรากฎหมายทั้งการควบคุมและและบทลงโทษผู้ที่ให้กัญชาเป็นยาเสพติดที่รุนแรงกว่าเหล้าและบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

นอกจากนั้นคำว่า “นันทนาการ” แปลว่า กิจกรรมที่ทำในยามว่างเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด ไม่มีข้อความใดที่บ่งบอกถึงการกระทำความผิดหรือความเลวร้าย และไม่มีใครตั้งคำถามว่าดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เพื่อนันทนาการนั้นเป็นความผิดหรือเลวร้ายอย่างไร เมื่อประกอบกับเหตุผลที่ว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย ออสเตรเลีย ฯลฯ ไม่เห็นว่าการนันทนาการเป็นความผิดหรือความเลวร้าย แต่ต้องมีการควบคุมให้เหมาะสมเท่านั้น

ประกอบกับความจริงที่ว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาตัวเองจำนวนมากอย่างผิดกฎหมาย เนื่องด้วยแพทย์แผนปัจจุบันมีความคิดในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชา เช่น การบังคับให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาอย่างอื่นก่อน การไม่จ่ายกัญชาเพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับบริษัทยาอีกหลายแห่ง ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมาย (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์) มีความเห็นว่าได้รับประโยชน์ในคุณภาพชีวิตดีขึ้นจำนวนมาก

แต่การปล่อยให้ใช้กัญชาใต้ดินจำนวนมากนั้นก่อให้เกิดผลเสียหลายประการ เช่น การปนเปื้อนยาฆ่าแมลง การปนเปื้อนโลหะหนัก ดังนั้นการปลูกในครัวเรือนให้ประชาชนเป็นเจ้าของกัญชาคือหนทางเดียวที่จะมีหลักประกันในการดูแลคุณภาพมิให้มีการปนเปื้อนสารพิษ ให้ดีกว่าพ่อค้ากัญชาตลาดมืด และสามารถมีกัญชาเป็นสมุนไพรรักษาตัวเองที่บ้านได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความจริงแล้วการสูบ เป็นกรรมวิธีหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ดังปรากฏมาแล้วในตำรับยาสุดท้ายในพระคัมภีร์ชวดาร ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ยังมีปรากฏในสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ยืนยันว่ายังมีสมุนไพรอื่นๆที่ใช้วิธีการสูบเป็นสมุนไพรเดี่ยว โดยไม่ต้องเป็นตำรับยาด้วย เช่น ลำโพง ดอกปีบ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัญชา” มีสรรพคุณตามการแพทย์แผนไทยที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัชว่า “กันชา แก้ไขผอมเหลือง หากำลังมิไ้ด้ ทำให้ตัวสั่นเสียงสั่น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ…”

สำหรับผู้ที่ใช้การสูบกัญชาในการบำบัดรักษานั้นมีความแตกต่างจากการกิน คือสามารถกะปริมาณยาที่เหมาะสมกับตัวเองเพราะออกฤทธิ์ภายใน 10 นาทีได้ ส่งผลทำให้บรรเทาอาการป่วยได้เร็วกว่า และรู้ตัวในการหยุดปริมาณการใช้ได้ดีกว่า ต่างจากการรับประทานที่ต้องรอการย่อยอีก 1 ชั่วโมง แต่ออกฤทธิ์ยาแรงกว่าการสูบ จึงเสี่ยงต่อรับยาเกินขนาดได้โดยไม่รู้ตัวกว่า การสูบกัญชาจึงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป

หลักฐานประการหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าการใช้กัญชาสามารถเป็นสมุนไพรในครัวเรือนได้ ใช้เป็นยาเดี่ยวได้และมีความปลอดภัย โดยไม่ต้องรอแพทย์หรือแพทย์แผนไทยนั้น ปรากฏตัวอย่างหลักฐานสำคัญตั้งแต่ 107 ปีที่แล้ว โดยพระยาแพทย์พงศาพิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ได้เขียนตำรา “แพทย์ประจำบ้าน” พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2458 สำหรับให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรและใช้ยาได้เองในส่วนของกัญชาในบ้าน ในตำราสรรพคุณยา ความว่า

“Tincture Cannabis Indica ทิงเจอร์ แคนนาบิส อินดิคา, เป็นน้ำยาสีเขียว ทำจากยอดกันชาโดยใช้แอลกอฮอล์กัด รับประทานได้ ๕ ถึง ๑๕ หยด เป็นยาสงบประสาท แก้ปวดและแก้เนื้อกระตุก แก้ลงท้องและปวดท้อง ใช้ในโรคสมองพิการ คลั่งเพ้อและโรคบิด ใช้ใบหั่นสูบในการรักษาหืดด้วย”

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างมากจึงเลือกแนวทางในการให้ประชาชนได้มีโอกาสสามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยการปลูกในครัวเรือน ลดการผูกขาดเอาไว้เฉพาะกลุ่มทุนแพทย์และกลุ่มทุนยา โดยมติเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าควรให้มีกัญชาปลูกในครัวเรือนได้ 15 ต้นเพื่อการพึ่งพาตัวเองในครัวเรือน อีกทั้งยังมีการการควบคุมดูแลโดยการนำกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมยาสูบ และพืชกระท่อม ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในระดับการควบคุมจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว จึงเพิ่มการควบคุมในระดับเดียวและไม่ต่ำกว่าการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และพืชกระท่อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการฯหลายท่านได้เห็นกรณีศึกษาที่จังหวัดขอนแก่นและในต่างประเทศที่เลิกยาบ้าและกลับมาเป็นพลเมืองดีได้ด้วยกัญชา และยังพบว่าหากมีการประยุกต์ใช้กัญชาอย่างเหมาะสม กัญชาจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยลดการติดยาบ้าและการติดเหล้าในสังคมได้ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การลดอาชญากรรมดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์

ประการที่สาม นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่ากฎหมายเอื้อประโยชน์นายทุน เพราะชาวบ้านปลูกในบ้าน 15 ต้น แต่กลับขายไม่ได้จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสูบ และมีค่าธรรมเนียมการปลูกแพงมากถึง 50,000 บาท จึงเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุน ซึ่งเป็นความเท็จ[1]

สำหรับประเด็นนี้กรรมาธิการไม่เคยปิดกั้นเกษตรกรรายย่อย เพียงแต่แบ่งแยกการจดแจ้งสำหรับการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองในครัวเรือนไม่เกิน 15 ต้น แต่สำหรับการปลูกเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อเศรษฐกิจสามารถทำได้จะต้องมีการขออนุญาตทุกกรณี ส่วนค่าธรรมเนียม 50,000 บาทดังที่ระบุในบัญชีแนบท้าย คือ “อัตราสูงสุด”สำหรับรายใหญ่ และสำหรับเกษตรกรรายย่อยสามารถปลูกกัญชา กัญชงไม่เกิน 5 ไร่ จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งคณะกรรมาธิการได้บันทึกในเจตนารมณ์เอาไว้แล้วอย่างชัดเจน การที่ระบุว่าเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนนั้นจึงเป็นเรื่องเท็จ เพราะถ้าเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนนั้นจะไม่มีทางให้ประชาชนสามารถปลูกได้ในครัวเรือนเพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างแน่นอน

ประการที่สี่ นายสุทิน คลังแสง กล่าวหาว่าการทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจะไม่กระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกกัญชา กัญชงไปแล้ว เพราะกฎหมายที่ให้โทษไม่สามารถย้อนหลังเอาผิดได้นั้น น่าจะไม่เป็นความจริงเพราะที่ปลูกกัญชากัญชงทั้งหมด จะมีโทษฐานครอบครองกัญชาทันที กัญชาในบ้านจะต้องถูกถอนทำลายทิ้ง ที่ปลูกเพื่อการขายก็ต้องถูกเผาทำลายให้หมดเช่นกัน ซึ่งจะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงให้กับประชาชนและเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม

ประการที่ห้า การที่นายสุทิน คลังแสง อ้างว่ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ยังคงใช้ในทางการแพทย์ได้เป็นตรรกะที่ย้อนแย้งกับพรรคเพื่อไทยเอง เพราะถ้าทำได้อย่างดี พรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรเห็นชอบกับประมวลกฎหมายาเสพติดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 และ 24 สิงหาคม 2564 และไม่ควรเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 หากกัญชาใช้ทางการแพทย์ได้อยู่แล้ว

อีกทั้งการทำให้กัญชาเป็นยาเสพติด ก็ยังเป็นผลทำให้ผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินก็จะกลับมาเป็นอาชญากรเหมือนเดิม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากสภาพความเป็นจริงได้

การกลับไปเป็นยาเสพติดอีกจึงเป็นข้อเสนอที่ไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ไม่เห็นใจในความเดือนดร้อนของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ใต้ดินจำนวนมาก และยังมีผู้ปลูกกัญชา กัญชงเพื่อพึ่งพาตัวเองแล้ว หรือลงทุนกัญชา กัญชงไปแล้ว จะได้รับความเสียหายจากการตัดสินใจที่ไม่รอบด้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ประการที่หก คณะกรรมาธิการฯ ย่อมต้องน้อมรับความเห็นในเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเสียงข้างมากในกรรมาธิการเช่นกัน (ซึ่งขอย้ำว่าในกรรมาธิการไม่ใช่มีแต่พรรคภูมิใจไทย แต่มีทุกพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม) แต่สุดท้ายทุกประเด็นที่มีความเห็นต่างโดยนายสุทิน คลังแสง และพรรคเพื่อไทยนั้นได้มีผู้แปรญัตติเอาไว้แล้วแทบทุกมาตรา (แม้แต่โฆษกก็ยังสงวนคำแปรญัตติบางมาตรา)

ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้ปลูกกัญชาในบ้านแม้แต่ต้นเดียว หรือต้องการให้กลับไปเป็นยาเสพติดอีก