ปั้นโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC วางเป้าหมาย 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่อัจฉริยะของโลกในปี 2580 

  • เพื่ออนาคตที่ดีให้คนรุ่นถัดไปอย่างเป็นรูปธรรม
  • จ่ายชดเชยเกษตรกรในที่สปก.แล้ว2.4 พันไร่แล้ว
  • คาดเริ่มเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างต่อเนื่อง โดยได้เร่งรัดติดตามโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการนี้มีพื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี มีการจัดวางโซนพื้นที่พัฒนาเมือง ได้แก่

ศูนย์สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ราชการ EEC ,ศูนย์กลางการเงิน EEC ,ศูนย์การแพทย์แม่นยำ และการแพทย์อนาคต ,ศูนย์การศึกษา วิจัยและพัฒนา นานาชาติ ,ศูนย์ธุรกิจอนาคต  ,ที่พักอาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม  รวมถึงการเดินทางภายในพื้นที่ จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้วยการไม่ใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก เช่น รถไฟเชื่อมโยง รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน รถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารภายในพื้นที่โครงการ

ทั้งนี้จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่มีมติเห็นชอบ ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ  ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าโครงการที่อยู่ในเขต สปก. ตามที่ได้จัดทำแผนแม่บทแล้วเสร็จกำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 20 ปีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 5,700 ไร่ระยะที่สอง 4,000 ไร่ และระยะสุดท้าย 4,919 ไร่นั้น สกพอ.และ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ในระยะแรกแล้วทั้งสิ้น 2,483 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเตรียมที่ดินในเฟสแรกให้พร้อมได้ใน 5 ปีข้างหน้า โดยภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ จะเริ่มดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเมืองอัจฉริยะระดับโลก ที่มีประสบการณ์พัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้สำเร็จทั้งในเกาหลี ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น เพื่อออกแบบผังและจัดโซนของโครงการ รวมทั้งวิเคราะห์ธุรกิจที่เหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยกำหนดให้ทำการศึกษาแล้วเสร็จใน 18 เดือน และจะเริ่มให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาพื้นที่ได้ในปี 2567

สำหรับเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลใน  เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตให้ มนุษย์และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ที่มีคุณภาพชีวิตระดับสากลที่เมื่อแล้วเสร็จตามเป้าหมาย จะสามารถรองรับประชากรได้กว่า 350,000 คน ภายในปี 2575 สร้างงานได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง รองรับแรงงานคุณภาพสูง มูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล 150 -300 กิจการ และจากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี  ที่สำคัญสินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า

 “พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน  เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นถัดไป  ควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆที่ช่วยเหลือเยียวยาและสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ลงลึกครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ”