“ปลัด สธ.” ชี้อนาคตเชื้อโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในจังหวัดที่มีการระบาดมาก กทม.-ภูเก็ต

  • เผยอัตราการติดเชื้อจะค่อยๆลดลง แต่จะไม่ลดลงมาไปมากกว่านี้
  • คาดตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะทรงตัวหลักหมื่นต่อวัน
  • ชี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วยดีขึ้นเริ่มมีเตียงว่างไว้รองรับ

วันนี้ (22 ก.ย.64) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ จากนี้อัตราการติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง แต่จะไม่ลดลงมาไปมากกว่านี้แบบตัวเลขหายไปเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ และคงไม่ลดลงไปมากกว่านี้ โดยจะเหลือเพียงหลักหมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ เพราะการเปิดผ่อนคลายมาตรการ กิจการบางอย่าง ซึ่งก็ถือว่าช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นและคนมีงานทำได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ว่ามาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันตนเองยังต้องเข้มข้นเหมือนเดิม เพื่อให้การใช้ชีวิตจากนี้เป็นการอยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปกติ

“เชื่อว่าไม่นานจากนี้โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยคงเริ่มในพื้นที่ที่มีการระบาดมากก่อน และไม่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง มีการรับวัคซีนจำนวนมาก เช่น ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต ส่วนการบ่งบอกทางวิชาการว่า เมื่อไหร่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าโรคนี้จะค่อยๆ หายไปหรือป่วยแต่ก็ไม่มีอาการรุนแรงอีกต่อไป เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้พบการติดเชื้อรายใหม่วันละ 2,000-3,000 คน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์เตียงผู้ป่วยขณะนี้พบว่า เตียงสีแดงเริ่มดีขึ้น ส่วนเตียงสีเหลืองเหลือว่างหลักร้อย เตียงสีเขียวเหลือว่างถึงหลักพันคน แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ประมาท ต้องป้องกันตน สวมหน้ากากอนามัยหมั่นล้างมือ มีระยะห่าง และเมื่อมีชุดตรวจ ATK ที่ สปสช. จัดซื้อ 8.5 ล้านชุด และกระจายไปให้ประชาชน คนละ 2 ชุดเพื่อใช้ตรวจก็ควรมีการใช้ตรวจด้วย หากมีความเสี่ยงหรือทางหน่วยงานก็ควรตรวจพนักงานสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยคัดกรองไปในตัว ซึ่งการมีชุดตรวจไม่ควรเก็บไว้ มีต้องใช้ และต้องใช้ตรวจให้ถูกวิธี จึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด