ปลัดคลัง สั่ง สศค. ศึกษา กฎหมายให้แบงก์ อายัดเงินโดนหลอกเข้าบัญชีม้า- โอนผิดได้ 

  • เพื่อลดความเสียหาย
  • กำชับ ธปท.-แบงก์รัฐ
  • มีระบบเปิดบัญชีรวดกุมขึ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ มีผู้ที่เปิดบัญชีที่ตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น หรือบัญชีม้า จำนวนมากนั้น ปัจจุบัน ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแก้กฎหมายใหม่ ให้มีการเพิ่มโทษผู้ที่รับเปิดบัญชีม้า ให้มีความรุนแรงขึ้น เป็น จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ได้กำชับให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หารือร่วมกับ  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่ประสานกับธนาคารพาณิชย์ ให้กำกับดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ร่วมทั้ง คลังก็ได้กำชับไปถึง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วย ให้มีขั้นตอนการเปิดบัญชีที่ความรัดกุมมากขึ้น เช่น การใช้ กระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง หรือ ระบบ KYC เป็นต้น  

รวมทั้ง ให้คลัง และธปท.ประสานความร่วมมือไปยัง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินทุกแห่ง เป็นต้น เพื่อติดตามการทำงานและป้องกันร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ในส่วน สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) และธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นั้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของการหลอกลวง ให้โอนเงินเข้าบัญชีมา เนื่องจากรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้ออกกฎหมายให้ ธุรกิจเหล่านี้ ทำเพียงขาเดียว คือ การปล่อยเงินกู้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป

ปัจจุบันการตรวจสอบความผิดปกติของบัญชี หรือ ที่คาดว่าจะเป็นบัญชีนั้น สถานบันการเงิน และธนาคารต่างๆ ต้องทำการรายงานสำนักงาน ปปง.  ทั้งกรณีที่ มีเงินเข้าบัญชีจำนวนมากผิดปกติ  หรือจำนวนเงินโอนเข้าถี่ผิดปกติ สำนักงาน ปปง.เองก็มีการติดตาม มีเครือข่ายในการเข้าไปตรวจสอบอยู่ตลอด แต่ที่ปัจจุบันยัง เห็นว่ามีบัญชีม้าจำนวนมากอยู่นั้น เพราะส่วนใหญ่มีการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว เงินโอนเข้าและก็โอนออกทันที และต้องแจ้งความเป็นรายธุรกรรม ทำให้บางครั้งอาจจะไม่ทันในบางกรณี 

“ ผมก็สงสัยว่า ทำไมต้องรอแจ้งความ ทำไมผู้เสียหายมาแจ้งความแล้ว ก็น่าจะมีระบบที่อายัดเงินส่วนที่แจ้งไว้ก่อน จุดนี้เป็นจุดเป็นช่องว่างของเรื่องนี้เลย แต่เข้าใจว่าสถาบันการเงิน อาจจะกลัวว่าจะรบกวนลูกค้า แต่ประเด็นก็ข้องใจ เพราะเมื่อลูกค้าโทรไป แจ้งว่าถูกโกง หรือหลอกโอนไปผิด ก็น่าจะมีการช่วยในการล็อกหรืออายัดเงินที่อยู่ในบัญชีปลายทางไว้ก่อน ในเฉพาะส่วนที่แจ้งไว้เท่านั้น ไม่ต้องอายัดทั้งบัญชี ผมว่าควรจะทำให้ได้ เพื่อป้องกันความเสียหาย” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ก็ได้ให้การบ้านกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปแล้ว ให้ศึกษาและ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการเงิน และข้อกฎหมายการประกอบธุรกิจสถานบันการเงิน และกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ว่าการทำมาตรการอายัดเงินบ้างส่วนนั้น ทำได้หรือไม่ เหตุเพียงพอไหม หรือช่วยเหลือไปถึงกรณีการโอนเงินผิดพลาด 

“ในกรณีโอนผิด ในส่วนคนได้รับเงินโอนเองก็ต้องระวังเช่นกัน ดังนั้น ถ้าคนโอนต้นทางควรขออายัดได้ ตัวผมคิดว่ามันมีเหตุเพียงพอ โดยไม่ต้องไปรอแจ้งความ เพราะตัวผู้โอนแจ้งมาเอง ก็ต้อทำการพิสูจน์ว่าโอนผิดจริง ก็อายัดไว้ทันที ซึ่งแบงก์ต้องมีระบบรองรับการแจ้งกรณีโดนหลอก โอนผิด แม้จะจำเป็นต้องมีการแจ้งความอยู่ แต่อยากให้แบงก์ช่วยอายัดส่วนที่แจ้งไว้ก่อน แล้วค่อยแจ้งความทีหลังก็ได้ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วไม่ใช่โดนหลอกหรือโอนผิด ผู้ที่แจ้งให้อายัดก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน”นายกฤษฎา กล่าว