“ประภัตร” ขานรับนโยบายนายกฯ เร่งลงพื้นที่กำแพงเพชร รับฟังปัญหาเกษตรกร

  • ตรวจเยี่ยมกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุโมเดล
  • สนับสนุน ปัจจัยลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริม กข 79
  • ตามแผนการเพาะ มุ่งพาข้าวไทยทวงแชมป์ส่งออกโลก

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังการดำเนินงานของกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี โมเดล หมู่ที่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเกษตรกรเข้าร่วม ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่มาตรวจราชการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 และมีความยินดีกับผลสำเร็จของโครงการ “ขาณุโมเดล” โครงการตัวอย่างการแก้ไขปัญหาข้าว โดยใช้แนวทางการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบการผลิตข้าวรักษ์โลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรเกษตรกร สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก จึงได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมอีกครั้ง เพื่อรับฟังและส่งเสริมเพิ่มเติมทั้งในด้านของการผลิต การลดต้นทุน และในด้านของการผลักดันองค์ความรู้และวิธีการ เพื่อกระจายผลสำเร็จ ไปสู่ชาวนาไปทั่วประเทศ

สำหรับกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี โมเดล เป็นตัวอย่างที่กรมการข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่ม กข 79 ปี 2563/64 แค่ 2 ฤดูกาล ก็รู้จักนิสัยข้าว กข 79 เป็นอย่างดี ทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกเริ่มเห็นผลชัดเจน เมื่อกลุ่มเข้าใจลักษณะของพันธุ์ข้าว ก็มาขยายผลต่อยอด ได้ใบรับรอง GAP ยกระดับการผลิตเป็น GAP+ เป็น “ข้าวรักษ์โลก” เป็นการผลิตใช้ชีวภาพชีวภัณฑ์ ไม่เผาฟาง ทำให้ข้าวสวย ข้าวเปลือกได้คุณภาพทางกายภาพดี โรงสีให้ราคาดีเป็นที่น่าพอใจ คุณภาพดีสม่ำเสมอ จนตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง

 “การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาในวันนี้ ได้กำชับกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เรื่องการให้คำแนะนำและการออกใบ GAP ให้กับเกษตรกรกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาร่วมกับเกษตรกรกลุ่มเดิม และยังได้นำจุลินทรีย์นวัตกรรม จากศูนย์วิจัยนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมและการเกษตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จุลินทรีย์นวัตกรรม และสารนวัตกรรมปรับปรุงดิน ควายดำ มาให้กับเกษตรกรทดลองใช้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงสภาพดิน ฆ่าเชื้อราและกำจัดโรคในดิน ย่อยสลายซากพืช กำจัดแก๊สไข่เข่า ช่วยให้ข้าวแตกกอเยอะ ลำต้นแข็งแรง รวงยาว ระแง้ถี่ ต้นเตี้ยแข็งแรง เมล็ดเต่งเต็มไม่ลีบ น้ำหนักดี นอกจากนี้ จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังพบว่าหากชาวนาใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวฯ ต้นทุนการเพาะปลูกจะอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่    ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนา และนำไปสู่การขยายผลในการแข่งขันของตลาดโลก เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล     ในการแข่งขันการส่งออกข้าว นำประเทศไทยกลับสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 อีกครั้ง “รมช.ประภัตร กล่าว

 นอกจากนี้ รมช.ประภัตร ในฐานะที่กำกับดูแลกรมการข้าว ได้สั่งการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร สนับสนุนเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้กับกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี โมเดล และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 79 หรือพันธุ์ที่ดีกว่า    ตามแผนการเพาะปลูกข้าวของประเทศ ให้กับเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวฯ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของกลุ่ม และยังได้สั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของตน ในการขอสนับสนุนโค ในโครงการธนาคารโค – กระบือ   เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ให้กับกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี โมเดล เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ สร้างความมั่นคงในครัวเรือนเกษตรกรต่อไป