ประชุมรัฐมนตรีการค้า “เอเปก” ป่วน! 5 ประเทศวอล์ก เอาท์

  • มีทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
  • ในช่วงรัสเซียพูดในที่ประชุมและกลับมาหลังพูดเสร็จ
  • ”จุรินทร์” ย้ำไม่มีปัญหา เรียบร้อยดี มั่นใจเป็นไปตามเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21พ.ค.) เวลา 9.00 น. ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้ากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ประจำปี 65 ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นเจ้าภาพ และมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานนั้น ในช่วงที่นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รมว.การพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวในที่ประชุม ผู้แทนของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้เดินออกจากห้องประชุม (วอล์ก เอาท์) เพื่อแสดงการประท้วงรัสเซีย ที่มีปฏิบัติการทางทหารกับยูเครน ซึ่งนายจุรินทร์ มีท่าทีนิ่งเฉยกับการแสดงออกดังกล่าว แต่หลังจากนายเรียชเชสนิคอฟ กล่าวเสร็จ ผู้แทนของทั้ง 5 ประเทศจึงได้กลับเข้าห้องประชุม

ส่วนในการประชุมช่วงบ่าย การวอล์ก เอาท์ ได้เกิดขึ้นอีก โดยในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.เศษ มีการพักการประชุม หลังจากนั้น นายเรียชเชสนิคอฟ จะได้เป็นคนกล่าวในที่ประชุม แต่ปรากฎว่า ตัวแทนของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่ยอมเข้าห้องประชุม และเข้ามาหลังจากที่นายเรียชเชสนิคอฟ ได้กล่าวจบแล้ว

นายจุรินทร์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในภาพรวม การประชุมครั้งนี้ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตนในฐานะประธานที่ประชุม มั่นใจว่า ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามเป้าหมาย ส่วนเขตเศรษฐกิจใด จะมีความเห็นอย่างไร และดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละเขตเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกครั้งนี้ ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี และเป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง

สำหรับกรณีความขัดแย้งของสมาชิก จะทำให้รัฐมนตรีการค้าไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเป็นผลของการประชุมครั้งนี้ และจะออกแถลงการณ์ร่วมกันวันที่ 22 พ.ค.นี้ได้หรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมจะเป็นความเห็นร่วมกันของสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าทั้งหมดได้ แต่จะต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ทุกเขตเศรษฐกิจกำลังพิจารณารายละเอียดของแถลงการณ์ร่วม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ จะถือว่า การประชุมครั้งนี้ ล้มเหลวหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ถือว่าล้มเหลว หากออกไม่ได้ก็จะเป็นการออกแถลงการณ์ของประธานการประชุม ซึ่งตนไม่กังวลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ความขัดแย้งของสมาชิก จะเป็นอุปสรรคทำให้เอเปกไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เอเปกยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และยังมีความคืบหน้าอยู่ โดยสมาชิกสนับสนุนให้เดินหน้า พัฒนาเอเปกจากการเป็นกลุ่มความร่วมมือ ให้เป็นเอฟทีเอ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความคืบหน้าไปในอนาคตถึงปีค.ศ. 2040 (พ.ศ.2583) ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

“แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันคือ ประเทศไทยทำหน้าที่ของเราดีที่สุด ทุกประเทศชมว่าเราทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพได้เป็นอย่างดี ไม่มีข้อตำหนิ แต่ผลการประชุมจะเป็นอย่างไร ต้องทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีความเห็นร่วมกัน ซึ่งผมไม่กังวลอะไร ยังสามารถควบคุม กำกับการประชุมได้ และมั่นใจว่า ทุกอย่างราบรื่น”

นายจุรินทร์ กล่าวต่อถึงการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ในระหว่างพิธีเปิดการประชุมว่า การประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้ร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อน การดำเนินการเอเปกให้มีความคืบหน้าต่อไป โดยเฉพาะวาระการดำเนินการสำคัญ คือ กาจัดทำเอฟทีเอเอเปก รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในระบบพหุภาคีและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตในสถานการณ์โควิด-19 และอนาคต

ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดธีมหลักในการประชุมในปีนี้ คือ “Open Connect Balance” OPEN คือการเปิดกว้างไปสู่ทุกโอกาสด้านการค้าการลงทุน และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการจัดทำเอฟทีเอ ผ่านมุมมองใหม่ที่เรียนรู้จากสถานการณ์ โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ทุกภาคส่วนในสังคม ส่วน CONNECT คือการเชื่อมโยงในทุกมิติโดยเฉพาะการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

และ BALANCE คือการสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างรอบด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประเด็นสำคัญคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือที่เรียก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นแนวทาง หรือแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ของสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ และจะผลักดันให้สมาชิกใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป