ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 21 จังหวัด

  • ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อพยพ 24,235 คน
  • นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องในพื้นที่น้ำท่วม
  • กำชับหน่วยงานของรัฐให้การช่วยเหลือเต็มที่

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมาตลอด และได้สั่งการให้ทั้งกองทัพและหน่วยราชการบูรณาการความช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมอื่นด้วย

สทนช.ได้รายงานสถานการณ์น้ำที่อุบลราชธานีว่า วันนี้ระดับน้ำและปริมาณน้ำที่ อ.เมืองอุบลราชธานี อยู่ในระดับทรงตัวนาน 21 ชม. แล้ว และคาดว่าจะทรงตัวอีก 2-3 วัน จึงจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังใน อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ มีแนวโน้มทรงตัว แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ลำปาว ลำเซบาย ลำโดมใหญ่มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับแม่น้ำยม แต่แม่น้ำโขงที่มุกดาหารและ อ.โขงเจียม อุบลราชธานีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.4-0.5 เมตรใน 3 วันข้างหน้า

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานสถานการณ์สาธารณภัยประจำวันที่ 14 ก.ย.62 เวลา 18.00 น. ว่า มีพื้นที่ประสบภัยรวม 32 จังหวัด (ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร / ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว / ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ระนอง ชุมพร)

ทั้งนี้ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 21 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.แพร่ จ.น่าน จ.เพชรบูรณ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.มหาสารคาม จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.อำนาจเจริญ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.อุบลราชธานี จ.ตราด จ.ระนอง จ.ชุมพร และประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว 28 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.แพร่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.อุตรดิตถ์ จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.อุบลราชธานี จ.ขอนแก่น จ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี จ.อำนาจเจริญ จ.นครพนม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร จ.ชัยภูมิ จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.มหาสารคาม จ.สุรินทร์ จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.ระนอง ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ มีผู้อพยพ 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด รวม 96 จุด 24,235 คน ได้แก่ จ.ยโสธร 11 จุด 907 คน จ.อุบลราชธานี 63 จุด 23,198 คน จ.ร้อยเอ็ด 22 จุด 130 คน

ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ ทุกเหล่าทัพได้บูรณาการงานความช่วยเหลือประชาชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระจายกำลังและเครื่องมือช่างสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนที่ยังประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ผู้รับผิดชอบอยู่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งสำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเป็นการเร่งด่วน