“บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง”

  • กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สร้างเครือข่าย
  • เฝ้าระวัง สื่อสาร เตือนภัย ให้เด็ก เยาวชนและประชาชน
  • ตระหนักรู้ ตื่นตัวอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายสุขบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เพื่อยกระดับกระตุ้นเตือนให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับการปลูกฝังและสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัยและทุกช่วงชีวิต ด้วยการปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทุกกลุ่มวัย ตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ โดยในปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดให้มีการสื่อสารรณรงค์พฤติกรรมตามสุขบัญญัติแห่งชาติ ข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ โดยใช้ประเด็นสื่อสารหลักคือ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” เพื่อเป็นการสื่อสารให้เด็ก เยาวชนและประชาชนมีความตระหนักรู้และตื่นตัวถึงอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และร่วมมือในการเฝ้าระวังสื่อสารเตือนภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่

ทั้งนี้จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย โดยกองสุขศึกษา ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 17,767 คน จากทุกภูมิภาค พบว่าเยาวชน สูบบุหรี่มวน     ร้อยละ 11.5 สูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 8.3 และสูบบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดร้อยละ 4.3

ด้าน นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์สุขบัญญัติแห่งชาติ ปี 2566 ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันโดยรณรงค์ตามแนวทางสุขบัญญัติแห่งชาติ “เครือข่ายร่วมใจ เตือนภัย บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” จากเครือข่ายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสารเตือนภัย “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” ในกลุ่มเด็ก เยาวชน เช่น แกนนำยุว อสม. และ อสม. ซึ่งเป็นแกนนำสุขภาพในชุมชน ร่วมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสาร เตือนภัย อันตรายจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เยาวชนลดการสูบบุหรี่ และคาดว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ได้