“บุญลือ” ไฟเขียวเปิดกรอบคุ้มครองมวยเด็ก พร้อมตามพิมพ์เขียว กกท.ให้นักกีฬากู้เงิน ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น. ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 มี กรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 มีการพิจารณารายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมาธิการกีฬา 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย ส.ส.ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ และ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 โดย ส.ส.ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ

ส.ส.ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า คณะอนุฯนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาเพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ทำการประชุม 9 ครั้ง พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือรวมทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน อาทิ การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ค่ายมวยบัญชาเมฆ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ทำการศึกษาผลกระทบตั้งแต่เริ่มมีการกระบาดและประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน, ศึกษาความต้องการ และความคาดหวังของภาคส่วนกีฬาที่ภาครัฐจะสามารถส่งเสริมสนับสนุนในช่วงระยะฟื้นฟูเร่งด่วนช่วงเดือน (สิงหาคม- ธันวาคม) และ ศึกษาความต้องการ และความคาดหวังของภาคส่วนกีฬา ที่ภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถสนับสนุนในช่วงฟื้นฟูให้ความยั่งยืนตลอดปี 2564

“การพิจารณา จึงมีการพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรรกิจด้านการกีฬา, การพิจารณาแนวทางในการหามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจด้านการกีฬา, การพิจารณาแนวทางในการหามาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจด้านการกีฬา ประเด็นหารือ การช่วยเหลือ และเยียวยานักกีฬา รวมถึงแนวทางการผ่อนปรนกิจการ และกิจกรรมด้านการกีฬาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย และแนวทางการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงิน ให้ยืม ตามมาตรา 9 มีการเสนอให้ นักกีฬา และบุคลากรทางการกีฬา และนักกีฬาคนพิการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน มีการใช้ประโยชน์จาก กฎหมาย ตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558”

ส.ส.ดร.เอกการ กล่าวว่า คณะอนุฯ ได้มีการอภิปรายและผลักดันให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้ใช้กฎหมายดังกล่าว ผลปรากฏว่า ในการประชุมครั้งที่ 9 ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้กองนิติการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ยืมเงิน ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่ง กกท. จะทำการจัดทำแนวทาง และขั้นตอนทางกฎหมายในการใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้นักกีฬา และบุคลากรทางการกีฬา ได้กู้เงินหรือให้ยืมเงิน ซึ่งจะมีการยกร่างหลักการเหตุผล เสนอผู้ว่า กกท. และ ขออนุมัติตามลำดับตามขั้นตอน ที่จะมีการหารือกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อแก้ไขระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ ให้สามารถนำเงินกองทุนมาใช้กับนักกีฬาให้มากที่สุด

“สิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือกระบวนการขั้นตอนการผลักดันให้เกิดการใช้กฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้น ตามหน้าที่ของ คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในช่วงของการออกแบบเพื่อจัดทำแนวทางที่ถูกต้องในการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 9 และถือได้ว่า การใช้กฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งคณะอนุฯนี้ จะยังคงติดตามเพื่อให้ได้ร่างที่ชัดเจน และหากสำเร็จในอนาคต กรณีนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ต่อวงการกีฬา ที่ยังจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาลในการดูแลนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบต่อไป” ส.ส.ดร.เอกการ กล่าว

ด้าน ส.ส.ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ถึงปัจจุบันรวมจำนวน 13 ครั้ง แบ่งภาระกิจเป็น 2 รูปแบบ คือการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานรัฐ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการกีฬามวยที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย จำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย นักมวย อายุ 15-17 ปี และนักมวยอายุ 18 ปีขึ้นไป, ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน, ผู้จัดการมวย, ผู้จัดรายการแข่งขัน, นายสนามมวย และหัวหน้าค่ายมวย ได้อภิปรายถึงปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายและหัวหน้าค่าย ตั้งแต่คำนิยามของคำว่า “กีฬามวย” และสิ่งที่บัญญัติในการจำกัดอายุนักมวยต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไปถึงจะขึ้นชกได้ทั้งที่การฝึกมวยจะเริ่มตั้งแต่อายุ 8 ปี และการพิจารณากำหนดให้มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้แก่นักมวยเด็กเมื่อแข่งขันกีฬามวยให้มีมาตรฐานสากล

“ประเด็นสำคัญ มีการนำเสนอให้แยกกองทุนกีฬามวยออกจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ, ให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ติดสินกีฬามวยที่เป็นคณะกรรมการกลาง, แก้ไขโครงสร้างกีฬามวยใน กกท. และมีการกำหนดบทลงโทษกรณีล้มมวยอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม, การบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 ควรคำนึงถึงนักมวยต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันกีฬามวยในประเทศไทย ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ รวมถึงการคุ้มครองจากการแข่งขันมวยในประเทศไทย, การพิจารณาศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับวันพักหลังจากการขึ้นชกมวย และการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 ควรมีการจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นของบุคลากรในวงการมวยอย่างทั่วถึง ทั้งนักมวย หัวหน้าค่ายมวย ผู้จัดการแข่งขัน และผู้ฝึกสอนกีฬามวย เพื่อให้มีกฎหมายที่ใช้บังคับแก่บุคลากรกีฬามวยอันเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในวงการกีฬามวย”

ส.ส.ดร.สิริพงศ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย คณะอนุฯนี้ ได้ทำการเปิดกรอบกฎหมายเพื่อทำการคุ้มครองมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลง ให้มีการถกแถลงเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงเพื่อบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงกฎ กติกา ในการชกมวยให้เกิดความปลอดภัย และให้มวยเป็นกีฬาประจำชาติไทยสืบไป

ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการทำงานทั้งสองอนุฯนั้น ในด้าน คณะอนุกรรมาธิการ ติดตามผลกระทบนักกีฬาจากสถานการณ์ ”โควิด” และ คณะอนุกรรมาธิการ พ.ร.บ. มวยฯ ยังคงต้องทำต่อ และที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาต่อไปอีก 30 วัน ซึ่งในส่วนของ คณะอนุกรรมาธิการฯ “โควิด” ให้พิจารณาติดตามร่างตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ยังรอผลการนำเสนอจากฝ่ายนิติการ กกท. ส่วน คณะอนุกรรมาธิการฯ”พ.ร.บ. มวย” ให้หาทางออกเกี่ยวกับการดูแลนักกีฬา และการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบาดเจ็บ หรือเงื่อนไขของอายุนักมวยที่จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนักมวยรวมถึงกฎหมายที่มีการโต้แย้งกัน เพื่อให้การแก้ไข พ.ร.บ. มวย 2542 ที่กำลังทำการแก้ไขให้นักกีฬามวยได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. นี้สูงสุดต่อไป