“บีโอไอ” วาดฝันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร

  • ผงาด ในอาเซียน หนุนส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • ขับเคลื่อน หลังโควิด-19พลิกโอกาสให้ไทย     
  • ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวกับโควิด-19 รวม 5.6 หมื่นล้านบาท  

นางสาวดวงใจ  อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  เปิดเผยว่า เป้าหมายของบีโอไอต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(New S-Curve)โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อตอบโจทย์การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการแพทย์ครบวงจร( Medical Hub)ในอาเซียนเพราะหลังจากการแพร่ระบาดของวิด-19 ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์, กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ, กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึง เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 รวม209 โครงการมูลค่า 56,436 ล้านบาท  

  สำหรับ  กิจการในกลุ่มการแพทย์ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยปีละ 30 โครงการและ ในระยะ9เดือนแรกปีนี้มียอดขอรับการส่งเสริมกิจการกลุ่มการแพทย์รวม  65 โครงการ โดยเป็นผลพวงจากโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้รับความนิยมในการลงทุน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 

  “การเป็น Medical Hub บีโอไอไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะให้คนต่างชาติมารักษาโรคต่างๆเพียงเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อนในระดับหนึ่งเพราะเมื่อเกิดโควิด-19 เมื่อต้นปีนี้ ประเทศไทย ขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้บีโอไอต้องไปเจรจากับผู้ผลิตที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพื่อให้เขานำมาขายในประเทศก่อนจึงจะส่งออกได้ ตามเงื่อนไขของบีโอไอ จากนั้นทำให้เราต้องหันกลับมาพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดเพราะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 แม้มีเงินก็หาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ ทำให้บีโอไอต้องหามาตรการส่งเสริมกิจการใหม่ๆที่จะเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มากขึ้น และต้องพยายามส่งเสริมแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป”

นางสุธีรา เดชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย( CU Innovation Hub)และ ได้รับการส่งเสริมการทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืชกล่าวว่าบริษัทได้ทดลองผลิต  โปรตีนตัดแต่งจากการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลีย เพื่อเป็นแหล่งผลิตโปรตีนแบบชั่วคราว เป็น รายแรกในประเทศไทยที่ใช้ใบยาสูบเป็นเจ้าบ้าน  หรือที่เรียกว่า Host และเพาะเลี้ยงโปรตีน ตัดแต่งที่มียีนเป้าหมาย จากนั้นจึงสกัดโปรตีนที่ได้ ออกจากใบของต้นยาสูบ และทำให้บริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง   

  ทั้งนี้บริษัทยังได้ลงทุน การพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19  ที่มีเป้าหมายให้สามารถทดสอบกับมนุษย์ ได้ในปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มผลิตเพื่อการพาณิชย์ในปี  2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 มูลค่า  500 ล้านบาทคาดว่าจะมีกำลังผลิต  2 ล้านโดสต่อเดือน โดยหากประสบความสำเร็จจะตั้งราคาจำหน่าย ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ