บีทีเอส.เฮ !ศาลปกครองพิพากษา ยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย-รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน

ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีบีทีเอสฟ้องร้อง คณะกรรมการฯ ม.36  และ รฟม. กรณียกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม  บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์)  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ขณะเดียวกันศาลก็ไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประกวดราคารอบใหม่ที่เริ่มไปแล้ว ด้าน รฟม.ยืนยันเตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เช้าวันนี้ (7 ก.ค.) ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากคดีล้มประมูลรถไฟฟ้า สายสีล้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) ในครั้งแรก  ซึ่ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอสซี เป็นโจทย์ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562    เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการยกเลิกการประกวดราคารอบแรกตามมติของคณะกรรมการ ม.36  ครั้ง 1 /2564 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564   ที่ออกประกาศยกเลิกโดยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. 

โดยเมื่อเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง  ได้อ่านถึงคำฟ้องและคำโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ในประเด็นว่าคณะกรรมการ  ม.36 มีอำนาจ มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวน  และผู้ว่าฯ รฟม . มีอำนาจในการออกประกาศหรือไม่  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน พ.ศ.2562  มาตรา 6 หรือไม่  

รวมทั้งคำโต้แย้งของฝ่ายผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า  จำเป็นต้องมีการยกเลิก และออกประกาศยกเลิกการเชิญชวน ประกวดราคา รถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรก  เนื่องจากหากไม่มีประกาศยกเลิกออกมา     และศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับเกณฑ์การประมูลในครั้งแรก  ในขณะนั้น  

เมื่อยังไม่มีการยกเลิกก็จะทำให้การเดินหน้าประกวดราคารอบใหม่ ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้โครงการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ล่าช้า กระทบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ) ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเกิดความล่าช้า  โดยภาพรวมสองปีกระทบกับการเปิดให้บริการต้องเลื่อนจากปี 2567 ไปปี 2569  ซึ่งระหว่างความล่าช้านี้เมื่อโครงการสายสีส้มฝั่งตะวันออกก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีต้นทุนในการดูแลรักษาระบบทั้งที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการประมาณเดือนละ 41 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามศาลปกครองไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้โดยเห็นว่าการดำเนินการสามารถไปเร่งรัดได้ แต่ให้น้ำหนักกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 ตามพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเรื่องของความโปร่งใส  การเป็นหุ้นส่วนที่ดีในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน  รวมถึงประโยชน์ของสาธารณะว่า ได้รับผลกระทบหรือไม่

ดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษาว่าการมีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนรอบแรกและการออกประกาศไม่ชอบด้วยกฏหมาย  ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องขอให้มีการชะลอ  การเดินหน้าประกวดราคารอบใหม่    ศาลปกครองไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอ   รวมทั้งได้มีการหยิบยกประเด็นที่มีการยกเลิกในรอบแรก  บริษัทที่ร่วมลงทุนกับบีทีเอสเป็นกิจการร่วมค้า ได้รับคืนเงินค่าซอง ไปแล้ว  ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากระบวนการประกวดราคาครั้งใหม่นี้จะยังมีความสมบูรณ์เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

ด้านนายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ซึ่งได้เดินทางเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในวันนี้  ระบุว่าพอใจกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้ความยุติธรรม  และจะนำผลคำพิพากษาในวันนี้ไปหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย  โดยเห็นว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประกวดราคาในรอบแรก  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นในปัจจุบันนี้ยังต้องถือว่ากระบวนการประกวดราคาในรอบแรก และประกาศเชิญชวนยังมีผลอยู่ ส่วน คำถามว่า ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประกวดราคารอบใหม่นี้จะดำเนินการอย่างไรต่อ  ก็จะเป็นประเด็นที่ต้องนำไปหารือกับฝ่ายกฎหมายต่อไป รวมทั้งบริษัทก็มีความพร้อมที่จะเดินหน้าการประกวดราคาในรอบแรกอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นว่า รฟม. จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษานี้หรือไม่นั้น  คงต้องรอดู ฝ่าย รฟม. อีกครั้ง โดยคดีที่เกี่ยวกับการยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ยังมีเหลืออีกหนึ่งคดี คือ คดีที่มีการฟ้องดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการมาตราฯ 36   ซึ่งศาลได้นัดไต่สวน ในวันที่ 27 กันยายนที่จะถึงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระบวนการประกวดราคารอบใหม่ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์  รฟมฺ ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.65 ผลปรากฏว่า มีผู้ที่สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคา ทั้งสิ้น 14 ราย มีการจัดประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา   และมีกำหนดรับซองข้อสนอในวันที่ 27 กรกฎาคม และเปิดซองข้อเสนอ ในวันที่ 1 สิงหาคม 65

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.  ยืนยันว่า รฟม. รฟม.จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน แน่นอน  หรือถ้ามีประเด็นกฎหมายเพิ่มเติม ก็สามารถขยายและเวลาในการอุทธรณ์ตามกฏหมายได้ 

ส่วนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รอบใหม่ ยืนยันว่ากระบวนการจะเดินหน้าต่อไป  เพราะที่ผ่านมา  คดีนี้มีการฟ้องมาแล้ว 2 ครั้ง ในศาลปกครอง  ซึ่ง ในครั้งแรกศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งยกในประเด็นที่ผู้ฟ้องขอให้ชะลอการประกวดราคารอบใหม่  รวมทั้งศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษายืนไปแล้ว  จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมีการชะลอการประกวดราคาครั้งใหม่  ที่ได้เริ่มต้นกระบวนการไปแล้ว

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวสั้นๆว่า เรื่องดังกล่าวต้องรอคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการส่งมาก่อน ขณะนี้ไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้เนื่องจากยังไม่เห็นรายละเอียดดังกล่าว ส่วนกรณีที่ว่ากระทรวงคมนาคมจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ในเรื่องนี้ ต้องดูในรายละเอียดให้รอบคอบก่อน