“บิ๊กตู่”​  สั่งเร่งส่งเสริม E-Commerce ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ 

  • แนวโน้มธุรกิจขนส่งพัสดุโตไม่หยุด 
  • ปี 2566 เติบโตกว่า 18 % 
  • มูลค่า 1.15 แสนล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมสนับสนุน ธุรกิจ E-Commerce เพื่อเป็นแรงหนุน เพิ่มโอกาสเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ หลังรับทราบรายงานการประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของ ttb analytics ธุรกิจขนส่งพัสดุ เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่งที่เติบโตกว่า 90% ประกอบกับปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค และแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการเสริมทักษะความรู้ และงบประมาณ นอกจากนี้ที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 การซื้อขายสินค้าออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตกว่า 30% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี 

 สำหรับในปี 2565 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และธุรกิจขนส่งพัสดุยังคงเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท จากความชื่นชอบและคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดย ttb analytics คาดว่า ในปี 2566 ธุรกิจขนส่งพัสดุจะมีมูลค่าถึง 1.15 แสนล้านบาท เติบโต 18% ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce ที่เติบโตราว 11% ทำให้เกิดช่องทางใหม่ๆ สำหรับการซื้อขายสินค้า เช่น Live Commerce ผ่านสื่อออนไลน์ 

“นายกรัฐมนตรีประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และรับทราบรายงานตัวเลขชี้วัดฯ ในช่วง 5ปีที่ผ่านมาตลอดจนแนวโน้มของธุรกิจในปี 2566 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชน เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจในประเทศ โดยในส่วนของตลาด E-Commerce นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และสนับสนุน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การประเมินการเติบโตของตลาดให้เท่าทันพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจที่มีการปรับตัวตามกระแสนิยม สรรหาโอกาส และช่องทางใหม่ๆ อยู่เสมอ จะเป็นผู้ได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ”