“บิ๊กตู่” ร่ายยาวผ่านเวทีเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” มาเป็นแล่มผลการดำเนินงานรัฐบาล 29 หน้า

  • เล่าย้อนอดีต คิดเสมอถึงวันที่ได้ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน
  • ชี้การตรวจสอบต่างๆ ขององค์กรอิสระ ยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ ย้ำตนจะไม่เข้าไปก้าวล่วงใดๆ
  • ยกเหตุเจอโควิด-สงครามการค้า ส่งผลกระทบหนักด้านเศรษฐกิจ
  • ลั่นรัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชน กับวิกฤตที่ยืดเยื้อติดต่อกว่า 2 ปี
  • เผยรัฐบาลมีความปรารถนาดี ที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทย
  • เอ่ยไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือวิกฤตที่ยืดเยื้อได้

วันนี้ (19 พ.ค.65) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” รวมถึงกล่าวปาฐกถาพิเศษ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทย” ว่า ตนเองย้อนคิดเสมอถึงวันที่ได้ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน โดยวันนั้นประเทศไทยมีการแบ่งขั้วสลับกันต่อต้านซึ่งกันและกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมานับ 10 ปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย 

ในวันนี้พวกเราหลายคนอาจจะลืมกันไปแล้ว และเมื่อตนได้ตัดสินใจไปแล้ว ก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด การมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เข้าใจดีว่าต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ในเวลานั้นคสช.ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิด ภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด ในช่วงเป็นรัฐบาล คสช. มีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ตนก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่างๆ องค์กรอิสระยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระโดยทางตนจะไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ใดๆ วัตถุประสงค์ของการเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย 

ทุกคนก็ได้เห็นว่าในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“การสร้างบ้านสร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จำเป็นต้องมี Master Plan ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2580 ประกอบด้วย 1. ด้านความมั่นคง 2. ด้านการสร้างสามารถในการแข่งขัน 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ 4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วน ในสังคมเข้าใจและเห็นภาพบ้านของเราในอนาคตเดียวกัน เดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน โดยเป็นกรอบเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ที่ทำให้การพัฒนาเกิดความต่อเนื่อง มีแผนระยะสั้น และระยะปานกลาง ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดการขับเคลื่อนประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ตนได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยตนและคณะรัฐมนตรีทุกคน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศให้กับหน่วยงานของรัฐ ทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตาม โดยจะมีการวัดผลและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ ตามสถานการณ์และความจำเป็นของประเทศ 

ทั้งนี้ในช่วงเวลานั้น แม้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯแต่ประเทศไทยก็ยังเติบโตได้ดี ในระดับหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนั้น รัฐบาลก็ได้พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเดิม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับ ขีดความสามารถ โดยสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ รัฐบาลนี้ ภายใต้การบริหารของตนได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2558 เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ โดยนำมาประยุกต์ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหารและการต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558-2562 ถึงร 7.9% ต่อปี เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเตรียมน้ำต้นทุนสำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนน้ำอุปโภค-บริโภค 

รวมถึงโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลลัพธ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้าน ในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตโลกที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤตครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย เราถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในระดับต้นๆของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่า 20% ของ GDP 

โดยการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เหมือนก่อน เมื่อมองย้อนกลับไป 2 ปี วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นี้ นับเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะเราสู้อยู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น ไม่มีอาวุธใดจะปราบได้ โดยในช่วงเริ่มการระบาดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ 

รวมถึงประเทศไทย ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ไม่มีอะไรที่แน่นอน จึงได้สร้างมาตรฐานการต่อสู้ใหม่ในหลายระลอก มีวัคซีนก็ต้องแบ่งปัน กระจายการฉีดอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศนโยบายต่างๆที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดรัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยก็ได้นำร่องเปิดประเทศในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และได้เปิดประเทศจริงจังเมื่อ 1 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ แม้เปิดประเทศแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง ยังต้องเตรียมความพร้อม ทั้งวัคซีนและยารักษาไว้อย่างเพียงพอ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ทุกภาคส่วน ภาครัฐภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อมองในแง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยในหลายๆด้าน 

อาทิเช่น ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย ทั้งการรักษา การให้บริการ การรับมือ โรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉิน ยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทีมหมอครอบครัว อสม. รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงได้เองหลายชนิด ในประเทศและ ส่งเสริมบทบาทการเป็น “ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ของโลก โดยไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคมนี้ ยิ่งกว่านั้นยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเต็มที่ หลังวิกฤตโควิดอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างที่ทุกท่านทราบดี เมื่อเร็วๆ นี้ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สร้างความหวาดกลัวว่าสงครามจะยืดเยื้อ สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียงรัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นต้น

“ล่าสุดรัฐบาลก็ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เพิ่มอายุผู้ประกันตนให้ถึง 65 ปี แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกันตน โดยสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ รัฐบาลตระหนักว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีความไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชน ในระยะต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่อง ตนได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 8 ประเด็นข้างต้นแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้การแก้ปัญหาความยากจนนั้น เมื่อเราสร้างกลไกการทำงาน กลไกความร่วมมือในทุกระดับได้แล้ว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ มันต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยกทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลของผมก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมีการลงทุนและเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ เรื่องที่ 1 เทคโนโลยีดิจิทัล ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ให้แก่บริษัทดิจิทัลต่างๆ ได้มีการหารือกับนักลงทุนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับทราบข่าวดีเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยจากนักลงทุนระดับโลก

เรื่องที่ 2 อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต

เรื่องที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เรื่องที่ 4 ที่ต้องดำเนินการคือรัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญๆแบบพหุภาคี ตนได้นำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็นวาระของโลก ซึ่งไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนและเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันที่เข้มแข็งกับ ทุกพันธมิตร และพร้อมขยายผลการพัฒนาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชนกับวิกฤติที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤตเหล่านี้เป็นวิกฤตโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาครั้งนี้จะมีคำตอบในสิ่งเหล่านี้ จากรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤต ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจ ทุกคนมุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี้คือ ประเทศไทยของเราแผ่นดินนี้ ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่ครับ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า และเราก็มีสถาบันที่สำคัญ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวคนไทยไว้ด้วยกัน สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือต้องการความร่วมมือความมุ่งมั่นและความเข้าใจเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่เคยท้อแท้ พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไปนานเท่านานเพื่อลูกหลานของเรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปาฐกถาดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการสรุปผลการดำเนินงานของรัฐบาล ทั้งในอดีตปัจจุบัน และอนาคตตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้รวม 29 หน้า