“บาทแข็ง”:มาตรการจริง VS มาตรการจิตวิทยา

นับตั้งแการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และเห็นแนวโน้มชัดเจนว่า นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะสามารถช่วงชิงคะแนนเสียงข้างมากชนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินไหลออกจากฝั่งสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใกล้จะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลายครั้งหลายหน

“ค่าบาท” ที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบซ้ำเติมภาคการส่งออก โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็กที่สายป่านสั้น แม้แต่รายใหญ่ที่สายป่านยาวๆ ก็อกอาการเจ็บหนัก

การส่งออกในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มียอดขาย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นบ้างหลังบ้านเราควบคุมโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่น ถูกกระทบให้อ่อนแอลงจากผลของค่าบาทที่แข็งค่า

เพราะในทางอ้อม “บาทแข็ง”ทำให้ราคาสินค้าที่ผู้ส่งออกไทยขายให้ต่างชาติมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ผลกระทบตรงๆ ก็คือ รายได้จากการสินค้าที่หายไปเมื่อแปลงค่าเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นรายได้เงินบาท เพราะเพียงค่าบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะหมายถึงเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยที่หายไป

เช่น ผู้ส่งออกรายเล็กๆ รายหนึ่ง ขายสินค้าได้ในราคา 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แปลงเป็นรายได้เงินบาทที่ผู้ส่งออกได้รับอยู่ที่ 3,100,000 บาท แต่หากค่าเงินบาทขึ้นไปที่ 30 บาทต่อดอลลารสหรัฐฯ เงินที่ได้กลับเข้าบริษัทจะอยู่ที่ 3 ล้านถ้วน หายไป 100,000 บาททันที

ในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่ผ่านมา จึงเป็น “ครั้งแรก” ที่ กนง.ออกมาระบุชัดว่า “ต้องการและสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท”

โดยระบุด้วยซ้ำว่า ธปท.จะมีมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทในวันที่ 20 พ.ย. รวมทั้ง ออกมายืนยันถึงการเข้า “แทรกแซง” ตลาดเงินเพื่อลดการแข็งค่าที่เร็วเกินไปของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาด้วย

การส่งสัญญาณดังกล่าว ช่วยทำให้ “ค่าเงินบาท”ที่ใกล้จะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เต็มที่ ไหลกับมาอยู่ที่ 30.34 บาทต่อดอลลลาร์ และทำให้แรงขายเงินตราต่างประเทศชะงักไปหลายวันเพื่อรอ “มาตรการสกัด” การแข็งค่าของเงินบาทของธปท.อย่างไรก็ตาม นักค้าเงินระบุว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังเป็นการแข็งค่า ดังนั้น มาตรการของธปท.ที่จะออกมาต้องแรงในระดับหนึ่งจึงจะ “เอาอยู่”

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออก 3 มาตรารใหม่ เพื่อปรับโครงสร้างและระบบนิเวศน์ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการอนุญาตเงินทุนเคลื่อนบย้าย ประกอบด้วย 3 เรื่อง

ประกอบด้วย 1. การเปิดเสรีการเปิดบัญชีเงินฝากของคนไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) และการโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยให้สามารถดำเนินการได้โดยเสรี  โดยสามารถเปิดบัญชีเดียวทำได้ทุกวัตถุประสงค์ เช่น การใช้เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งการซื้อหุ้นต่างประเทศ ซื้อทองคำ ส่งออกนำเข้าในบัญชีเดียว รวมทั้ง ไม่จำกัดวงเงินในการฝากเงิน

2. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ต่างประเทศได้เป็น 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จากเดิม 200,000 เหรียญฯต่อปี และหากเป็นการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะไม่จำกัดวงเงินในการลงทุน 

รวมทั้ง เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้  นอกจากนั้น ยังยกเลิกการจำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือกองทุนอื่นๆ ลงทุนได้มากขึ้น และสะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องมาขออนุญาตเหมือนที่ผ่านมา 

การปรับปรุงเกณฑ์ใน 2 ข้อนี้ กฎกระทรวงการคลังได้ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่า ธปท. และคณะกรรมการกำกับและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะออกประกาศเให้เริ่มดำเนินการได้ในสิ้นเดือน พ.ย.นี้

3 ให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนของนักลงทุนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ของไทย (Bond Pre-trade Registration) ทั้งผู้ลงทุนไทย และผู้ลงทุนต่างประเทศ ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ นอกจากนั้น ยังช่วยเป็นการป้องปรามนักลงทุนที่เข้าเร็วออกเร็วหรือเข้ามาลงทุนพักเงินเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น โดยมาตรการนี้คาดจะเริ่มต้นได้ในปีหน้า

หากถามคนในแวดวงการเงิน โดยเฉพาะผู้ค้าเงินว่า มาตรการของธปท.ออกมา “ปัง” หรือไม่ ค่าเงินบาทที่ไม่อ่อนค่าลงอีก หลังจากอ่อนค่าลงในช่วง 2 วันก่อนการประกาศถือเป็นการตอบรับที่ชัดเจนของตลาด เนื่องจากตลาดมองว่า มาตรการในข้อมที่ 1 และ 2 จะจ้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งหลังการประกาศเกณฑ์​ เพื่อให้นักลงทุนหาความรู้ความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการข้อ 3 เป็นมาตรการที่สร้าง “ความสั่นสะเทือน” ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกับนักลงทุยระยะสั้นที่เอาเงินเขาเร็วออกเร็ว หลายๆ ครั้ง เพื่อพักเงินและทำกำไรระยะสั้นๆ ในไทย การเปิดเผยตัวตนอาจจะทำให้การทำอะไรต่ออะไรสะดวกน้อยลง

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เนื่องจากต้องปรับระบบหลังบ้านในการซื้อขายพันธบัตร และจะใช้ได้จริงในต้นปีหน้า วันนี้ มาตรการดังกล่าวจึงยังเป็นเพียง “ มาตรการทางจิตวิทยา” ที่ใช้ขู่ “พวกเก็งกำไร” รวมทั้งผู้ส่งออกนำเข้าที่หาประโยชน์จาก “ค่าเงิน” ได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น 

ขณะที่การประกาศว่า ธปท.เข้าแทรกแซงค่าเงิน ก็ถือเป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ภายใต้แนวโน้มที่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่ยังกดดันให้ “ค่าเงินบาท” มีทิศทางแข็งค่า การให้มาตรการจิตวิทยา หรือการแทรกแซงค่าเงินบาท ยากที่จะประสบความสำเร็จ หากธปท.ไม่มีมาตรการด้านการควบคุมที่ตรงจุด และแข็งแรงพอมาเสริมทัพในเวลาอันใกล้นี้