“บางกอกแอร์เวย์ส” ไตรมาส 1 ปี 65 รายได้ตั๋ว+สนามบินโตทะลุ 200% ท่องเที่ยว-การบินโลกฟื้น จ่อตั้งกองทรัสต์สนามบินระดมทุนใหม่

  • เร่งเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างประเทศ จ่อตั้ง “กองทุนทรัสต์สนามบิน” ระดมทุนใหม่
  • ขานรับข่าวดีท่องเที่ยวไทยกับการบินโลกฟื้นแล้ว

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ บมจ. การบินกรุงเทพ เจ้าของบางกอกแอร์เวย์ส ไตรมาส 1 ปี 2565 (มกราคม-มีนาคม2565) มีรายได้รวม1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับบีก่อน 25.1 % รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของ 2 ส่วน คือ 1.ยอดขายบัตรตั๋วโดยสาร เพิ่ม 208.8 % และ 2.ธุรกิจสนามบิน เพิ่ม 206.9 %

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 บมจ.การบินกรุงเทพ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเส้นทางหลัก เพื่อรองรับการกลับมาเดินทางของนักท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เช่น กรุงเทพฯ-สมุยกรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ลำปาง สมุย-ภูเก็ต สมุย-อู่ตะเภา ภูเก็ต-อู่ตะเภา และกรุงเทพฯ-พนมเปญ

ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้เปรียบเทียบกับปี 2564 จึงมีจำนวนผู้โดยสาร 400,000 คน เพิ่มขึ้น 145.8 % และมีจำนวนเที่ยวบิน 5,037 เที่ยว เพิ่มขึ้น 104.4 %  รวมทั้งมีอัตราขนส่งผู้โดยสารทำได้ 63.5 % ทำราคาขายตั๋วโดยสารเฉลี่ย2,469.6 บาท เพิ่มขึ้น 31.3 %

แต่ก็ยัง “ขาดทุน” จากการดำเนินงาน 826.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ขาดทุนเพิ่มขึ้น 9.2 % เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 22.3 % ส่วนใหญ่เป็นเพราะ “ต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น” จากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร

ขณะเดียวกันในไตรมาส 1 ปีนี้ยังได้ “เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ” คือ

1.การเปิดบริการเที่ยวบินพิเศษเฉพาะผู้โดยสารซีลรูท (Sealed Route) เส้นทางกรุงเทพฯ – ภูเก็ต วันละ 2 เที่ยว เพื่อสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  

2.ให้บริการเที่ยวบิน Vaccinated Travel Lane (VTL) เส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามกำหนด โดยไม่ต้องกักตัว

3.การจัดตั้งบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อเตรียมระดมทุนจัดตั้งกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์จากธุรกิจสนามบินในอนาคตอันใกล้นี้

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมด้านการ “ตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ” ของไทย ตลอดไตรมาส 1 ปีนี้ ระหว่างมกราคม-มีนาคม 2565 ยังคงขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามรัสเซีย- ยูเครน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกก็ยังเติบโตใตดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen