บัณฑิตจบใหม่ปีหน้ามีระส่ำ จ้างงานปี 63 มีแววย่ำแย่หนัก

  • ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยจ้างงานปี 63 น่าห่วง
  • กระทบหนักทั้งพิษเศรษฐกิจ โรงงานปิดตัว ส่งออกหดตัว
  • ชี้บัณฑิตจบใหม่ 3 แสนกว่าคน น่าห่วงมีโอกาสเตะฝุ่น
  • คาดปีหน้าการจ้างงานอาจหดตัวได้ถึง 3-4%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์การจ้างงานไทย โดยระบุว่า แนวโน้มการจ้างงานในปี 2563 จะย่ำแย่กว่าปี 2562 โดยส่งสัญญานผ่านตัวเลขการปิดโรงงาน ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ที่มีจำนวนถึง 1,989 โรงงาน สูงกว่าตัวเลขการปิดโรงงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน และกระทบต่อลูกจ้างแรงงานถึง 49,157 คน แม้จำนวนโรงงานที่เปิดใหม่สุทธิมีจำนวน 746 โรงงาน ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในอดีตที่ 2,143 โรงงานอย่างมีนัยสำคัญอีกทั้งจำนวนการจ้างงานใหม่สุทธิยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้แสดงให้เห็นเศรษฐกิจที่ซบเซาเริ่มส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของประเทศไทย ซึ่งในปี 2563 จะแย่ลงกว่าปีนี้ จากทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังเป็นขาลงและปัจจัยเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย ส่งผลต่อรายได้แรงงานที่ลดลงและความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างของแรงงานไทย จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชนให้เติบโตลดลงประมาณ 0.2-0.3%

ขณะที่รายได้รวมชะลอลงจากการลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ผลประกอบการที่แย่ลงจากการส่งออกที่หดตัวเป็นแรงกดดัน ทำให้โรงงานต้องบรรเทาผลกระทบโดยการลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา โดยจำนวนแรงงานที่ทำงานเกินกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงถึงกว่า 1.9 แสนคน นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ในขณะที่ค่าตอบแทนแรงงานต่อหัว ที่รวมค่าล่วงเวลาและโบนัสต่างๆ เริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 2

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 การจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคให้เติบโตลดลง โดยแนวโน้มด้านการผลิตอุตสาหกรรมชี้ว่าการจ้างงานน่าจะยังไม่ฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งมองว่ากิจกรรมการผลิตที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากแนวโน้มการค้าโลกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว สินค้าคงคลังที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่แก้ไขไม่ตรงจุด จะเป็นปัจจัยกดดันภาวะการจ้างงานต่อไป โดยการจ้างงานอาจหดตัวได้ถึง 3-4% และจะทำให้การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 ลดลงประมาน 0.2-0.3% หรือจะกระทบอัตราการเติบโตของ GDP ได้มากถึง 0.15%

ขณะที่บัณฑิตจบใหม่กว่า 300,000 คน ในช่วงกลางปีหน้าอาจประสบปัญหาในการหางานในภาวะที่ภาคธุรกิจหยุด การจ้างงานใหม่เพื่อควบคุมต้นทุน ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่าน้ันที่ปรับลดจำนวนแรงงาน ภาคบริการก็วางแผนล่วงหน้าในการควบคุม กำลังคนที่เป็นต้นทุนที่สำคัญเช่นกัน โดยการลดหรือหยุดการจ้างใหม่ที่ไม่จำเป็น ซึ่งผลกระทบมักตกอยู่กับนักศึกษาจบใหม่ท่ี ถูกมองว่ายังไม่มีประสบการณ์หรือมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการจริงของภาคธุรกิจ โดยประมาณการว่าจะมี นักศึกษาจบใหม่ที่พร้อมหางานในช่วงกลางปี 2563 ราว 341,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 ที่ศึกษามาในสายวิชาชีพหรือเทคโนโลยีใหม่ธุรกิจมีแนวโน้มรับเข้าทำงาน มากกว่ากลุ่มอื่น