บอร์ดอีอีซีอนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภา จ่อเข้า ครม.ทันที

  • เตรียมเซ็นสัญญากลุ่มบีบีเอส เดือนมิ.ย.
  • สกพอ.เดินหน้าศูนย์ซ่อมเครื่องบิน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.หรือบอร์ดอีอีซี ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า บอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามที่กลุ่มบีบีเอส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ ปี 2561 หรือเอ็นเอวี เท่ากับ 305,555 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี หลังจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)จากนั้นจะเซ็นสัญญาได้ต้นเดือนมิ.ย.นี้


“โครงการนี้นับจากลงไปดูพื้นที่ครั้งแรก 3 ปีก่อน และถ้านับจากนำเข้าบอร์ดอีอีซีเมื่อ 1 ปีครึ่ง โดยครึ่งปีใช้เวลาพิจารณาข้อขัดแย้งในศาลปกครอง ฉะนั้น 1 ปีท่ีทำงานได้ขนาดนี้ถือว่าอยู่ในมาตรฐาน และจากที่รัฐมีรายได้จากสนามบินนี้ 305,555 ล้านบาท เมื่อหักเงินงบประมาณที่ใช้ในการลงทุนรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบิน 117,227 ล้านบาท จึงยังมีรายได้สุทธิจาก 2 โครงการ 188,328 ล้านบาท เท่ากับไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ และทั้ง 2 โครงการสามารถทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 532,000 ล้านบาท เพิ่มรายได้ภาษีอากร 92,650 ล้านบาท และสร้างงานได้อีกไม่น้อย 2,9870 คน ที่สำคัญตอนนี้กระดูกสันหลังของโครงการอีอีซีได้เดินหน้าแล้ว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมว่าทั้ง 2 โครงการนี้จะต้องเชื่อมกันให้ได้ ต้องมีกำหนดการเปิดใช้งานใกล้เคียงกันในปี 2566 จึงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการประสานการทำงานของเอกชนที่เป็นผู้ร่วมทุนกับรัฐใน 2 โครงการ”


นายคณิศ กล่าวว่า มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบกับการพัฒนาโครงการนี้หรือไม่ ได้มีการประเมินแล้วว่าการขนส่งสินค้าจะกลับมาเป็นปกติภายในปีครึ่ง ส่วนการขนส่งคนจะกลับมาภายใน 2 ปี แต่กำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการของสนามบินคือปี 2566 ดังนั้นแม้จะมีโควิด-19 ในเวลานี้ แต่ก็จะไม่กระทบโครงการนี้ที่จะเปิดในอนาคต


ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO) ซึ่งอยู่ในการดูแลของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) นั้น แม้ล่าสุด ครม.อนุมัติให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล แต่เนื่องจากโครงการนี้มีแผนงานที่ต้องดำเนินงานเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ก็คงต้องมีการเสนอโครงการนี้เข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ เพราะเป็นโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับการบินไทยในระยะยาว ขณะที่ในปีนี้ จะเป็นเป็นที่ สกพอ.จะหาเอกชนต่างชาติมาร่วมลงทุนหลังจากแอร์บัสได้ถอนตัวไป