บสย.เล็งผุดโครงการค้ำประกันหนี้เสีย SMEs วงเงิน 20,000 ล้านบาท อุ้มเอสเอ็มอีที่ป่วยให้เดินหน้าได้

  • เปิดตัว “บสย.SMEs ไทยสู้ภัยโควิด2” หมื่นล้าน
  • คาดช่วยเอสเอ็มอีท่องเที่ยวได้ 15,000 ราย

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ บสย.จะออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) มีปัญหาการค้างชำระหนี้กับธนาคารไม่เกิน 3 เดือน (SM) และเอสเอ็มอีที่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 2 ปี โดย บสย.จะให้สัดส่วนค้ำประกันสูงสุด ( Max Claim) กับธนาคารที่ให้สินเชื่อที่ 40 % ซึ่งสูงสุดเท่าที่ บสย.เคยให้กับธนาคาร

 ทั้งนี้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 20,000 ล้านบาทให้กับเอสเอ็มอีที่มีปัญหาในการชำระหนี้นั้น แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จะให้กับเอสเอ็มอีที่กลายเป็น SM และอีก 10,000 ล้านบาท จะค้ำให้กับเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลแต่จะต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอลไม่เกิน 2 ปี

“เมื่อปีที่แล้ว บสย.ได้ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่มีปัญหาการค้างชำระ ในวงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสินเชื่อที่ SMEs เหล่านั้นกู้จากสถาบันการเงินราว 75,000 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปี สินเชื่อที่ค้ำประกันเหล่านั้น ยังสามารถอยู่รอดได้ 98 % ส่วนในปีที่แล้ว เอ็นพีแอลของ SMEs อยู่ที่ราว 400,000 -500,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเอ็นพีแอล ที่ยังดำเนินการอยู่และค้างชำระไม่เกิน 2 ปี อยู่ราว 60 –70% ซึ่งคิดเป็นสินเชื่อราว 300,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ บสย.สามารถช่วยค้ำประกันสินเชื่อได้”

สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มโฮมสเตย์ (Homestay)  บสย.ก็มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้ ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมี Max claim 35 % เพื่อดึงดูดให้สถาบันการเงินปล่อยกู้กับธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งตามปกติหนี้เสียจากการค้ำประกัน อยู่ที่เฉลี่ย 15 –20% เท่านั้น

สำหรับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวครั้งนี้ จะค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 100 ล้านบาท หมายความว่าจะค้ำประกันตั้งแต่รายเล็กๆ ที่อาจมีลูกจ้างเพียง 1 คน จนถึงธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยสามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่ 2 มี.ค.- 31 พ.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว  โดยมีระยะเวลาค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี และในสองปีแรก ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.5 %

 “การเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งแม้โควิดจะเริ่มคลี่คลาย แต่การที่จะทำให้ ระบบเศรษฐกิจเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ น่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าสองไตรมาส ซึ่งคาดว่าการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวในวงเงิน 10,000 ล้านบาทนี้จะสามารถช่วยได้ 15,000 ราย

ทั้งนี้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง จากรายได้ในธุรกิจนี้ในปี 2562 อยู่ที่  2.99 ล้านล้านบาท พอมาในปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 800,000 ล้านบาท หรือลดลง 72.8 %  ขณะที่ในปี 2564 ธุรกิจนี้ก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกรอบ  แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บสย.จะได้ออกโครงการช่วยผู้ประกอบการ SMEที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในวงเงิน 5,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว ยังเข้าถึงโครงการค้ำประกันดังกล่าวเพียง 10 % ดังนั้นครั้งนี้จึงได้ออกโครงการค้ำประกันเป็นการเฉพาะของธุรกิจท่องเที่ยว