บริษัทจดทะเบียน แนะภาครัฐดำเนินการเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

  • ปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ
  • ช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชน
  • ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทุจริตต่อหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey: Economic Outlook 2022) ซึ่งรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 25 สิงหาคม – 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนที่ร่วมเสนอความคิดเห็น

ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงบริษัทจดทะเบียนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO Survey: Economic Outlook 2022) เพื่อเสนอแนะแนวทางให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

 ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวแต่ต้องได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายตลอดจนปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

การเป็นผู้นำเชิงรุก (Proactive Leadership) การมองภาพองค์รวม การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ (คอร์รัปชั่น) เป็นภาพลักษณ์ของภาครัฐในอุดมคติของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทย

นโยบายของภาครัฐที่มีทิศทางชัดเจน รัดกุม ต่อเนื่อง และนำไปปฏิบัติได้จริง ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว  จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และช่วยให้ภาคเอกชนวางแผนการลงทุนได้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ

ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมทั้งปรับปรุงระบบการศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาให้มีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาทั้งด้านการส่งเสริมทักษะวิชาชีพ (Hard Skills) และทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skills) ที่ช่วยให้สามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนไทยทุกช่วงวัยมีศักยภาพทางการแข่งขันมากกว่าปัจจุบัน และช่วยพัฒนาแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ (Skilled labor)

  ภาครัฐควรสนับสนุนและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาว ทั้งในรูปแบบการส่งเสริมการอย่างแข่งขันที่เป็นธรรม การลดความยุ่งยากในทำธุรกิจ การส่งเสริมการสร้างสรรนวัตกรรม การช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน การกำหนดนโยบาย / มาตรการที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต

การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการบริหารพลังงาน และการออกนโยบายหรือแนวทางในการส่งเสริมที่เหมาะสมในแต่ละประเภทธุรกิจ อาทิ การส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจเพื่อสุขภาพ การพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับภูมิภาค การกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการอ่านและการพัฒนาเนื้อหา (content) เป็นต้น