น้ำมันลดฮวบต่อเนื่องไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดการใช้ เหตุพิษโควิด-19 ทำคนไม่เดินทาง สายการบินหยุดให้บริการ ลดการใช้น้ำมัน

  • กรมธุรกิจพลังงานเผยสถานการณ์ใช้นำ้มันเดือน ม.ค.-ก.พ.63 ส่วนใหญ่ลดลง
  • ยกเว้นกลุ่มเบนซินยอดใช้กลับเพิ่ม 0.3% เทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะ E20
  • ด้าน “มนูญ” ชี้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสลดลงแตะ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงสั้นๆ

กรมธุรกิจพลังงานแจ้งสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2563 ว่าภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 5.3% โดยกลุ่มดีเซล ลดลง 2.0% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 4.4% น้ำมันเตาลดลง 33.8% น้ำมันก๊าด ลดลง 9.2% LPG ลดลง 12.9% และ NGV ลดลง 12.6% ยกเว้นกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.3%

สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 31.8 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 0.3% โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.95 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 1.1% ขณะที่น้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราลดลง 22.2% สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่าแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.7 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 7.9% เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.01 บาท/ลิตร ด้านแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 14.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3.5% แก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 9.0 ล้านลิตร/วัน ลดลง 6.2% และอี 85 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน ลดลง 3.6%

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64.6 ล้านลิตร ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น  2.5% โดยบี 7 มียอดใช้ 53.4 ล้านลิตร/วัน ลดลง 18.9% บี 10 ยอดใช้ 3.9 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และบี 20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561) 

ด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 4.4% เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมีนัยสำคัญ การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.8 ล้าน กก. ลดลงจากปีก่อนคิดเป็น 12.9% โดยปริมาณการใช้ภาคปิโตรเคมีลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 24.5% ภาคขนส่งมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.6 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 13.5% ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.9 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 1.9% และภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 1.8% และการใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.9 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 12.6% 

ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 922,977 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.3% คิดเป็นมูลค่า 59,406 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่นลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 30,392 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 64.9% คิดเป็นมูลค่า 1,947 ล้านบาท/เดือน 

ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 175,222 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.7% คิดเป็นมูลค่า 11,234 ล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ในส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 18 ปีที่ 20 ดอลลาร์สหรฐต่อบาร์เรล นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นผลกระทบหลักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพื่อกิจกรรมต่างๆ หายไป แต่มองว่าราคาขณะนี้เป็นสถานการณ์ช่วงสั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้แหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย เอาตัวรอดได้ แต่แหล่งผลิตเกิดใหม่ในแถบทะเลเหนือ เช่น ยุโรป และแหล่งเชลล์ออยล์ในสหรัฐฯ อาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนระดับนี้ได้  และคงจะต้องมีการกำลังมาตรการออกมากพยุงราคาเป็นแน่

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ในอดีตราคาน้ำมันเคยลดลงต่ำมากในช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 แต่หากเปรียบเทียบกันแล้วสถานการณ์ราคาน้ำมันช่วงนี้ถือว่าลดลงแรงกว่า และมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบจะลดลงไปแตะระดับกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงสั้น ๆ หากผู้ผลิตน้ำมับดิบไม่หันหน้ามาเจรจากันอย่างจริงจัง