“นิด้าโพล” ไม่เห็นด้วย “พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งพรรคการเมือง เพราะบริหารงานล้มเหลว-แก้ไขปัญหาไม่ได้

  • ประเด็นกระชับอำนาจเห็นด้วย-แค่เกมการเมือง
  • ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐ
  • ถึงเวลายุติบทบาททางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 16 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการให้รัฐมนตรีสองคนออกจากตำแหน่ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.54 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. แค่เล่นเกมการเมือง แต่จะไม่มีการแตกออกจากกัน ร้อยละ 17.16 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 16.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะแตกแยกมากขึ้น ร้อยละ 11.92 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองน้อยลง ร้อยละ 7.67 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงน้อยลง ร้อยละ 4.10 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. กำลังจะแตกออกจากกัน ร้อยละ 3.57 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงมากขึ้น ร้อยละ 3.11 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 1.52 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และร้อยละ 17.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.11 ระบุว่า ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย รองลงมา ร้อยละ 21.56 ระบุว่า ไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรค ฯ ได้ ร้อยละ 16.33 ระบุว่า ควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร้อยละ 6.00 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารงานล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ถึงเวลาที่ท่านควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 19.97 ระบุว่า เห็นด้วย อย่างยิ่ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความสามารถในการบริหารและมีความเด็ดขาด กล้าที่จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี และคาดว่าสามารถดูแลสมาชิกพรรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.10 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งภายในประเทศชาติ หากจัดตั้งพรรคของตนเอง ท่านจะได้มีอำนาจมาดูแลบริหารงานอย่างที่สามารถเลือกสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น ร้อยละ 7.82 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ผลงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ดีเท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาล่าช้า ควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงาน และร้อยละ 3.87 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.73 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.82 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.37 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.13 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.87 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 6.68 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.58 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.18 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.02 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 23.54 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.45 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.49 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.15 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.91 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 19.28 สถานภาพโสด ร้อยละ 77.68 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.05 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.99 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 28.47 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.88 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.44 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.36 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.48 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.37 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 8.43 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.43 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.93ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.05 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.73 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 20.42 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.05 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 20.50 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.65 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.31 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 4.86 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.35 ไม่ระบุรายได้