“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ ผู้สูงอายุใช้โซเซียลมีเดีย ทั้ง “ไลน์-เฟซบุ๊ก- ยูทูบ”​

  • ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์-หนังสือ
  • เน้นกิจกรรมประจำวันอยู่ภายในบ้าน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR)   สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ผู้สูงวัยไทยใส่ใจสังคมมากน้อยแค่ไหน” ทำการสำรวจระหว่าง    วันที่ 8, 14-15, 29 พฤษภาคม และ 4-5 มิถุนายน 2563 จากผู้สูงอายุไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยไทยในช่วง 3 เดือนก่อนที่มีการประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของเชื้อไวรัส  สายพันธุ์ใหม่ (โควิด – 19) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ   นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพฤติกรรมของผู้สูงวัยต่อกิจกรรมที่ทำบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ทำกิจกรรมประจำวันอยู่ภายในบ้าน และมีประมาณ 1 ใน 4 ที่มีงานอดิเรกที่อาจมีการพนันขันต่อ หนึ่งครั้งต่อเดือน  กิจกรรมที่ผู้สูงวัยไม่เคยทำในชีวิตประจำวัน เกินกว่าครึ่ง ได้แก่ ร้อยละ 65.36 ระบุว่า กิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัว (เช่น ดูหนัง ทานข้าว) และร้อยละ 54.08 ระบุว่า งานอดิเรกที่อาจมีการพนันขันต่อ (เช่น ชนไก่ แข่งนกขัน เล่นหวย/ซื้อสลากกินแบ่ง)

ส่วนกิจกรรมที่ผู้สูงวัยทำทุกวันในชีวิตประจำวัน เกินกว่าครึ่ง ได้แก่ ร้อยละ 80.96 ระบุว่า กิจกรรมภายในบ้านที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก (เช่น ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์/หนังสือ) รองลงมา ร้อยละ 74.96 ระบุว่า กิจกรรมในบ้านที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย  (เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร  ทำสวนครัว/สวนดอกไม้) และร้อยละ 64.64 ระบุว่า ออกกำลังกาย (เช่น การเดิน โยคะ แอโรบิค ว่ายน้ำ เต้นรำ/รำไทย) 

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม/องค์กรใด และไม่ได้เข้าร่วมทำงานอาสาสมัคร ในส่วนของการเป็นสมาชิกของกลุ่ม/องค์กรของผู้สูงวัย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.32 ระบุบว่า ไม่เป็นสมาชิกของกลุ่ม/องค์กรใด ในขณะที่ ร้อยละ 23.68 ระบุว่า เป็นสมาชิกของกลุ่ม/องค์กร  ผู้สูงวัยที่ระบุว่า เป็นสมาชิกของกลุ่ม/องค์กร พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.70 เป็นสมาชิกขององค์กรของผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณ (เช่น สมาคมผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ องค์การทหารผ่านศึก เป็นต้น) รองลงมา ร้อยละ 46.28 เป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาชีพ (เช่น สหกรณ์ สมาคมแพทย์ เป็นต้น) ร้อยละ 5.07 องค์กรทางสังคม หรือทางนันทนาการ (เช่น โรตารี่ ไลอ้อนส์ ซอนต้า เป็นต้น) ร้อยละ 3.04 องค์กรทางการเมือง (เช่น พรรคการเมือง) และร้อยละ 1.35 องค์กรด้านชาติพันธุ์/เชื้อชาติ (เช่น หอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมปักษ์ใต้ เป็นต้น) 

สำหรับการเข้าร่วมทำงานอาสาสมัครในวัด/ศาสนสถาน หรือในชุมชนของผู้สูงวัย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.52 ระบุว่า ไม่เข้าร่วมทำงานอาสาสมัครในวัด/ศาสนสถาน หรือในชุมชน ในขณะที่ ร้อยละ 16.48 ระบุว่า เข้าร่วม ทำงานอาสาสมัครในวัด/ศาสนสถาน หรือในชุมชน

ผู้สูงวัยที่ระบุว่า เข้าร่วมทำงานอาสาสมัครในวัด/ศาสนสถาน หรือในชุมชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.03 เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รองลงมา ร้อยละ 40.29 เป็นกรรมการวัด/ศาสนสถาน/โบสถ์ ร้อยละ 11.17 เป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) และ ร้อยละ 6.80 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครตำรวจบ้าน กรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน สำหรับ การเป็นอาสาสมัครโครงการธนาคารเวลา มีเพียงร้อยละ 0.49 ของผู้สูงวัย

ผู้สูงวัยส่วนมากไม่ใช้สื่อทางสังคม (Social Media) แต่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อติดต่อสื่อสาร สำหรับการใช้สื่อทางสังคม (Social Media) ของผู้สูงวัย พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.72 ระบุว่า ใช้ Line รองลงมา ร้อยละ 30.56 ระบุว่า ใช้ Facebook ร้อยละ 29.60 ระบุว่า ใช้ YouTube ร้อยละ 4.80 ระบุว่า ใช้ Instagram และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ใช้ Twitter ด้านการมีเครื่องมือการสือสารของผู้สูงวัย พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 6.56 มีNotebook ใช้ รองลงมา ร้อยละ 6.24 คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ใข้ร้อยละ 6.00 มี แท็บแลตใช้

ท้ายที่สุดสำหรับบุคคลที่ช่วยเหลือผู้สูงวัยในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร พบว่า ร้อยละ 30.64 ระบุว่า ไม่มีใคร รองลงมา ร้อยละ 28.00 ระบุว่า บุตรสาว ร้อยละ 25.04 ระบุว่า หลาน (ลูกของบุตร) ร้อยละ 21.36 ระบุว่า บุตรชาย ร้อยละ 9.20 ระบุว่า เพื่อน ร้อยละ 3.04 ระบุว่า คู่สมรส ร้อยละ 1.76 ระบุว่า ญาติ ร้อยละ 1.52 ระบุว่า บุตรสะใภ้ ร้อยละ 1.36 ระบุว่า น้องสาว ร้อยละ 1.20 ระบุว่า บุตรเขย ร้อยละ 0.88 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ เพื่อนบ้าน พนักงานร้านขาย – ซ่อม โทรศัพท์ และร้อยละ 0.56 ระบุว่า น้องชาย

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 72.80 เป็นผู้มีอายุ 60 – 69 ปี ร้อยละ 23.52 มีอายุ 70 – 79 ปี และร้อยละ 3.68 มีอายุ 80 ปี ขึ้นไป มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 8.64 อยู่ในปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 25.84 ในภาคเหนือร้อยละ 18.40 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.60 และอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 13.52 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.32 อาศัยอยู่ในเขตเมือง/ในเขตเทศบาล ร้อยละ 41.60 อาศัยอยู่ในเขตชนบท/นอกเขตเทศบาล และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุเขตที่อยู่

กลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.68 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.32  มีสถานภาพโสดร้อยละ 4.88  สมรสแล้วร้อยละ 83.68 หม้าย   หย่าร้าง แยกกันอยู่ ร้อยละ 10.56 และไม่ระบุสถานภาพการสมรสร้อยละ 0.88 

สำหรับระดับการศึกษา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.00 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 54.72 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 19.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.68 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 14.64 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.00 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุการศึกษา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.52 ไม่ทำงาน และร้อยละ 46.48 ทำงาน (มีรายได้)