“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ การเมืองยังแบบเดิมๆ ด่ากันไปมา อ้างประชาชน

  • 1 ปี…หลังการเลือกตั้งทั่วไป
  • สส.ยังแสดงบทบาทเดิมๆ ด่ากันไปมา
  • หลังเลือกตั้งส.ส.หายหน้าไปเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “1 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 และ 20 มีนาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจาย ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,275 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก  ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ  โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปีหลังการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.99 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน รองลงมา ร้อยละ 33.33 ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. หายหน้าไปเลย ร้อยละ 28.80 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่ง ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ส.ส. จากพรรคที่เป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 11.22 ระบุว่า ส.ส. ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบประชาชน ร้อยละ 7.24 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาฯ มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อประชาชน ร้อยละ 6.92 ระบุว่า ส.ส. จากพรรคที่เป็น ฝ่ายค้าน ใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 2.78 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพในการทำงานเพื่อประชาชน และร้อยละ 3.18 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. หายหน้าไปเลย ส.ส. ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่ง ส.ส. จากพรรคที่เป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาฯ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อประชาชน ส.ส. จากพรรคที่เป็นฝ่ายค้านใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล และส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพ ในการทำงานเพื่อประชาชน มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน และส.ส. ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบประชาชน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิม หากวันนี้ เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.13 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอื่น รองลงมา ร้อยละ 33.10 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก ร้อยละ 11.93 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายของพรรค ความรู้ความสามารถของตัว ส.ส. และดูว่า ส.ส. ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน ร้อยละ 10.42 ระบุว่า ไปเลือก แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ร้อยละ 4.06 ระบุว่า ไม่ไปลงคะแนน และร้อยละ 6.36 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือ พรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอื่น ไปเลือก แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ไม่ไปลงคะแนน และอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบาย ของพรรค ความรู้ความสามารถของตัว ส.ส. และดูว่า ส.ส. ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.91 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.78 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.38 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.45 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.55 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.24 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.76 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.83 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.38 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 23.79 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.07 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.58 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.79 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.56 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.75 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.97 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 29.44 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.07 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.71 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.33 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.57 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.58 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.64 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.52 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.51 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.56 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.85 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.31 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.03 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 17.66 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.89 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.23 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.90 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.69 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.59 ไม่ระบุรายได้