นิด้าโพล ชี้ “ประยุทธ์-ประวิตร” ไม่ต่างกัน เชื่อ 2 ป.จับมือจัดตั้งรัฐบาล

  • มองไม่ได้แตกกัน
  • เป็นการแข่งขันทางการเมือง

“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง“พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปะทะ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 23-25 มกราคม 2566

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจากพรรคพลังประชารัฐ กับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ พบว่า

ร้อยละ 46.56 ระบุว่าพลเอกประวิตร กับ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้แตกกัน เป็นเพียงแค่การแข่งขันทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 28.93 ระบุว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้และศรัตรูที่ถาวร

ร้อยละ 20.53 ระบุว่า เป็นสีสันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 12.52 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารประเทศ

ร้อยละ 10.76 ระบุว่า การแข่งขันกันจะทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส.รวมกันแล้วน้อยกว่าจำนวน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562

ร้อยละ 9.01 ระบุว่า พลเอกประวิตร กับ พลเอกประยุทธ์แตกกันอย่างแน่นอน ร้อยละ 8.78 ระบุว่า พลเอกประวิตร และ พรรคพลังประชารัฐ เป็นอิสระมากขึ้น สามารถร่วมรัฐบาลกับฝั่งไหนก็ได้

หลังการเลือกตั้ง ร้อยละ 6.56 ระบุว่า การแข่งขันกันจะทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส. รวมกันแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวน ส.ส. ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ร้อยละ 42.75 ระบุว่า ทั้งสองพรรค จะได้จำนวน ส.ส. เท่า ๆ กัน

รองลงมา ร้อยละ 25.73 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตร จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่า ร้อยละ 24.73 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่า

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.40 ระบุว่า เป็นไปได้มาก รองลงมา ร้อยละ 30.07 ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 18.32 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 11.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้