นายกฯ ปลื้ม! “World Bank”ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวเร็วเกินคาด สัญญาณดีแม้ศก.โลกชะลอตัว

  • ผลสำเร็จจากนโยบายของรัฐบาล
  • ที่สอดคล้องสถานการณ์
  • แก้ปัญหาตรงจุด

วันนี้ (18ธ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงรายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2565 โดยระดับ GDP ขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และเกินจากที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสำคัญจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นภายหลังการกลับมาเปิดประเทศ และมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล

ต่อกรณีดังกล่าว โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานดังกล่าวด้วยความยินดี ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยว่ามีตัวเลขการฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ จากภายนอก พร้อมกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ให้มีประสิทธิภาพและภูมิคุ้มกัน สามารถรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 2.9 และคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคของภาคเอกชนที่ฟื้นตัว และการจ้างงานคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานฯ ระบุว่า ระบบการเงินโดยรวมของไทยยังคงมีเสถียรภาพ การขาดดุลการคลังที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ค่อย ๆ ลดลงอยู่ในระดับที่มีความยั่งยืน อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ธนาคารโลกมองว่า ยังคงมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อและแรงกดดันด้านราคาที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อเศรษฐกิจของประเทศจนเห็นผลสำเร็จเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ผลักดันภาคการท่องเที่ยว เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลัง และมุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันมั่นใจว่าไทยจะฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน” นายอนุชาฯ กล่าว