นายกฯ ปลื้มต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น 305% ใน 2 เดือนแรกของปี 2566

  • เงินลงทุนรวม 26,756 ล้านบาท
  • สะท้อนศักยภาพความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย
  • ย้ำความสำเร็จนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มีเงินลงทุนรวม 26,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 305% จากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2565 สะท้อนศักยภาพความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย ถือเป็นความสำเร็จของมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทย ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล

สำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยรายงานการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวน 113 ราย โดยลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 76 ราย รวมเป็นเงินลงทุน 26,756 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยถึง 1,651 คน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า อนุญาต 62 ราย มูลค่าการลงทุน รวม 6,602 ล้านบาท และจ้างงาน 1,239 คน ซึ่งเท่ากับตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกส่วนได้แก่ การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 51 ราย ยอดลงทุนเพิ่ม 20,154 ล้านบาท และการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 412 ราย

ส่วน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 25 ราย ร้อยละ 22 มีเงินลงทุน 8,545 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 19 ราย ร้อยละ 17 มีเงินลงทุน 3,090 ล้านบาท 3) สหรัฐฯ 13 ราย ร้อยละ 12 เงินลงทุน 1,314 ล้านบาท 4) จีน 10 ราย ร้อยละ 9 แต่มีเงินลงทุนมากที่สุดถึง 10,987 ล้านบาท และ 5) สมาพันธรัฐสวิส 6 ราย ร้อยละ 5 เงินลงทุน 966 ล้านบาท สำหรับในพื้นที่ EEC มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนจำนวน 21 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,078 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของเงินลงทุนทั้งหมด

“นายกรัฐมนตรียินดีที่ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานสำคัญแล้ว ยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทยอีกด้วย โดยความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย”