นายกฯหารือ “ไบเดน” ร่วมสร้างภูมิภาคสงบสุข-ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล

  • เดินหน้าไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
  • มุ่งมั่นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ.2050
  • เชิญ “ไบเดน”ร่วมประชุมเอเปคที่ไทย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ การที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกันมองไปข้างหน้า และเดินหน้าไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 1.ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตนยินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่น ๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ตนหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2.ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน ตนขอเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 3.ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น ตนเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พฤษภาคม 2565

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ
  2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
  3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
  4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
  6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
  7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ