วันนี้ (22 ก.ย. 62) เวลา 11.05 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74
โดยในเวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 และกิจกรรมอื่นๆ ของนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีและภริยาพบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา จำนวน 175 ราย ณ โรงแรมพลาซา แอทธินี ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก โดยชุมชนไทยในสหรัฐฯ ประกอบด้วย หัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยในนครนิวยอร์ก เครือข่ายสมาคมและชมรมคนไทย กลุ่มนักวิชาชีพชาวไทยในรัฐนิวยอร์กและรัฐใกล้เคียง ผู้แทนสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ และแคนาดา นักศึกษาไทยในสหรัฐ และผู้สื่อข่าวไทยประจำนครนิวยอร์ก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ายินดีที่ได้พบปะพูดคุยกับชุมชนไทยเพื่อแจ้งถึงสถานการณ์ประเทศไทย นโยบายรัฐบาล รวมถึงรับทราบทุกข์สุข ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน การเดินทางมานครนิวยอร์กครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญหลายภารกิจ อาทิ การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยมีความก้าวหน้าโดดเด่นและได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ประสานงานร่วมกับจอร์เจียเพื่อเจรจาร่างปฏิญญาทางการเมือง การเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการประชุม Climate Action Summit ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้นำเสนอจุดแข็งพร้อมแสดงบทบาทนำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวทีระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” การกล่าวสุนทรพจน์ที่ Asia Society และ USABC เพื่อแจ้งถึงพัฒนาการต่างๆ ของประเทศไทย วิสัยทัศน์ของรัฐบาล และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยดำเนินการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และได้ออกกฎหมายและปรับปรุงกฎหมายรวมกว่า 400 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามแก้ไขปัญหาสังคมที่คั่งค้างมานาน เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เน้นการแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิต และการปรับปรุงระบบสวัสดิการเพื่อประชาชนโดยมีแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรม อีกสิ่งสำคัญที่รัฐบาลมุ่งเน้นก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ
เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สานต่อการพัฒนาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ ประเทศไทย 4.0 บนรากฐานการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างสรรค์ โดยเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 10+2 สาขา ส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม (smart cities) ในจังหวัดหลัก ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างงานและอาชีพต่อเนื่องในอีกหลายประเภท
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุดให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ กำหนดนโยบายการศึกษาเป็นวาระเร่งด่วนในทุกระดับ ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างรายได้ กำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สำหรับการรับมือกับสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน
รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนจากความขัดแย้งกีดกันทางการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรับมือไว้ในหลายลักษณะ เช่น การเจรจาข้อตกลงทางการค้าอาเซียน+6 หรือที่เรียกว่า RCEP การแสวงหาและร่วมมือกับคู่ค้าคู่ลงทุนใหม่ๆ ในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีมีความภาคภูมิใจและยินดีที่ได้เห็นคนไทยที่นี่เป็นพลเมืองที่ดีของสหรัฐอเมริกา ประกอบอาชีพและธุรกิจที่ได้รับการยอมรับ และมีสิทธิเสรีภาพทัดเทียมกับชาวอเมริกัน อย่างไรก็ดีเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยได้ แม้จะพำนักและทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญขอให้มีความสามัคคี เพื่อนำเสนอประเทศไทยในทางบวกและสร้างความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย และแสดงเอกภาพและศักยภาพของชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมแสดงความขอบคุณชุมชนไทยในสหรัฐฯ ทุกคนสำหรับกำลังใจและการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน