นายกรัฐมนตรีหนุนไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า-ตอกย้ำบทบาทไทยในฐานะดีทรอยต์แห่งเอเชีย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ล่าสุด บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ยกระดับกระบวนการผลิตในโรงงานด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ล้ำสมัย ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทยครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย มูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ก็เริ่มลงทุนเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมยังเตรียมขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดอาเซียนด้วย

“อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 5.9% ของ GDP หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 2563 ไทยมีการผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก  มีมูลค่าการส่งออกรวม 919,000 ล้านบาท  และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 นี้ การผลิตรวมราว 1.6 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 15 และปี 2565 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน  โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,300 ราย รวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 750,000 คน”

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก   ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำให้ไทยรักษาความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) โดยให้เตรียมพร้อม Up-skill / Re-skill ของภาคการผลิตของไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางการผลิตของยานยนต์โลก รวมทั้งนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้  ไทยตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicles หรือ ZEV จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)  โดยได้มีนโยบายในการดึงดูดและเอื้อต่อการลงทุนที่หลากหลาย อาทิการ สนับสนุนการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกด้วย

“รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญและได้กำหนดให้ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งใน อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยยังคงความเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต คาดการณ์ว่าในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ทั่วโลกจะสูงถึง 25 ล้านคัน  โดยตลาดที่ขยายตัวชัดเจนและจะเป็นโอกาสของไทย คือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ และอินเดีย”