นายกรัฐมนตรีพอใจการบริหารเศรษฐกิจเดินมาถูกทาง-เชื่อก่อนสิ้นปีดีขึ้น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยภาพรวมด้านการลงทุนในไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น ว่า ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบความคืบหน้าจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 213 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 11,554 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน โดยชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย หรือ 38% สิงคโปร์ 33 ราย หรือ15% และฮ่องกง 20 ราย หรือ 9%

ทั้งนี้การลงทุนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์

สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น

นายธนกร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รายงานว่าการกำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค. – ก.ย.) มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% และมีมูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี (93,883 ล้านบาท) ทั้งนี้ ตั้งแต่ ปี 2558 – กันยายน 2564 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท

โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท 2. กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท 3. กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท 4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท 5. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท

“คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ของไทย จะนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และคาดว่าในอีก 5 ข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่า 25% ของ GDP ซึ่งจะทำให้การเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายธนกร กล่าว