นักวิชาการหนุนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. เปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า ลดปัญหาต้นเหตุก่อฝุ่น PM2.5

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ มีนักวิชาการ ชี้ “รถเมล์” เป็นตัวการสำคัญก่อฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ โดยมีการจี้ภาครัฐให้เร่งเปลี่ยนรถเมล์เก่า 3,000 คัน หนุนแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ทยอยเปลี่ยนใช้รถเมล์ไฟฟ้า ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน พร้อมแนะรัฐปรับความคิดใหม่อย่าคิดว่าลงทุนแล้วเจ๊ง เชื่อหากปล่อยรถผุพังปล่อยควันพิษ รัฐต้องเสียเงินใช้รักษาคนอยู่ดี

ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ ยังคงต้องใช้ชีวิตเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานปกคลุมทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งน่าตกใจเมื่อข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น Air Visual ระบุว่ากรุงเทพมหานครติดอันดับ 3 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ซึ่งปัญหานี้ต้องยอมรับว่ามาจากหลากหลายสาเหตุ และหนึ่งในนั้นที่พูดถึงกันมากว่าเป็นตัวการสำคัญ นั่นก็คือ รถเมล์ที่ปล่อยควันดำทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

อีกทั้งประเด็นนี้ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีก เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ทดลองนั่งรถโดยสารสาธารณะ และพบว่ามลพิษทางอากาศส่วนมากมาจากขนส่งมวลชน มากกว่ารถส่วนบุคคล 

ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เร่งให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้แล้วเสร็จ เพราะเชื่อว่ารถเมล์ไฟฟ้าที่อยู่ในแผนฯ จะช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษได้

รศ.ดร.วันชัย รัตนวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า หากพิจารณาภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 พบว่ามีอัตราการปล่อยฝุ่นที่ใกล้เคียงกัน โดยภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 40% ขณะที่ภาคขนส่งอยู่ที่ประมาณ 30-40% ซึ่งในส่วนของภาคขนส่ง ประกอบด้วยทั้งรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก ที่เป็นตัวการสำคัญของการปล่อยควันดำออกจากท่อไอเสีย ทำให้เกิดมลพิษทำลายสุขภาพของประชาชน แต่หากพิจารณาเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะพบว่า รถโดยสารสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 เพราะรถบรรทุกส่วนใหญ่จะวิ่งอยู่รอบนอกเมือง

รศ.ดร.วันชัย กล่าวต่อว่า หากย้อนไปดูข้อมูลรถเมล์ของ ขสมก. ที่วิ่งให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ปัจจุบันมีประมาณกว่า 3,000 คัน โดยในจำนวนนี้ได้ถูกเปลี่ยนจากระบบน้ำมัน มาเป็นระบบก๊าซ NGV แล้วประมาณ 400-500 คัน นอกจากนี้ในจำนวนรถเมล์กว่า 3,000 คัน ยังพบว่าเป็นรถเมล์ที่มีสภาพเก่า และมีอายุการใช้งานมานานอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรถเมล์เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เป็นรถเมล์ใหม่ทั้งหมด เพราะประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ได้ลดน้อยลงไปแล้ว แต่เข้าใจว่าเนื่องจากรถเมล์ทำแล้วยังขาดทุนอยู่ จึงทำให้รัฐอาจไม่อยากเสียงบประมาณในส่วนนี้เพื่อไปลงทุน เพราะเปลี่ยนไปก็ขาดทุนอยู่ดี แต่หากคิดแบบนี้และปล่อยรถให้เก่าผุพังปล่อยควันพิษต่อไป ก็จะทำให้ประชาชนเจ็บป่วย และสุดท้ายรัฐบาลต้องเสียงบประมาณเพื่อใช้ในการรักษาคนอยู่ดี

“ผมเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ซึ่งมีการบรรจุเรื่องการจัดหารถเมล์ใหม่ ที่เป็นรูปแบบรถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ไว้ในแผนพื้นฟูฯ ด้วย เพราะแม้ ขสมก. จะขาดทุนที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเก็บค่าโดยสารราคาถูก แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตามหากได้รับการสนับสนุนให้จัดหารถเมล์ใหม่เป็นระบบอีวีจริง ขสมก.ควรพิจารณาความคุ้มค่าขององค์กรด้วยหากไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และยังเก็บค่าโดยสารที่ถูกเกินไป อาจทำให้ขาดทุนเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปรับให้สูงจนทำให้มีกำไร แต่อยากให้เป็นราคาที่เหมาะสมยอมรับได้ทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ”รศ.ดร.วันชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรถเมล์เก่าเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ที่ ขสมก.ควรต้องเร่งดำเนินการ แต่การจะเปลี่ยนนั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกลอตทีเดียวทั้งหมด อาจจะทยอยเปลี่ยนก็ได้ จะได้ไม่เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป โดยให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญเปลี่ยนรถเมล์ที่มีอายุการใช้งานมากๆ ก่อน เพราะในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน รถเมล์ที่ใช้น้ำมันที่มีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี จะได้รับการเปลี่ยนใหม่ แต่ปัจจุบันรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ มีอายุกว่า 10-20 ปีแล้วยังไม่ได้รับการเปลี่ยนใหม่ จึงถึงเวลาแล้วที่ควรโละทิ้งและเปลี่ยนใหม่ให้เป็นรถเมล์พลังงานสะอาดทั้งหมด

ด้านดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เชื่อว่าหากแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะเกิดประโยชน์กับทั้ง ขสมก. และประชาชน ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นในหลักการถือเป็นแผนฟื้นฟูฯ ที่ดี โดยเฉพาะการการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสารตามระยะทางที่ให้บริการ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นกิโลเมตร (กม.)  เพราะ ขสมก. จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสารจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้การจัดหารถเมล์ใหม่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาให้บริการ มั่นใจว่าจะตรงกับความต้องการของประชาชน และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้ประชาชน ไม่ต้องทนกับการนั่งรถเมล์ผุพังสูดควันพิษอีกต่อไป แต่ทั้งนี้เมื่อมีรถเมล์ใหม่แล้วควรควบคุมเรื่องคุณภาพการบริการด้วย