นักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นศักยภาพ EEC เร่งเดินหน้าความพร้อมขยายความร่วมมือด้านการลงทุนเพิ่ม

  • ไตรมาสแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นได้รับบีโอไอรวม 3,240 ล้านบาท
  • รัฐบาลมุ่งพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  • เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพต่อไป

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพของ EEC และความพร้อมในการสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มุ่งพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจากภาพรวมการลงทุนชาวญี่ปุ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 19,445 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมฯ แก่นักลงทุนญี่ปุ่นรวม 3,240 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถานเอกอัครทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากศักยภาพการเติบโตของไทย ทั้งยังได้เปรียบด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน มีต้นทุนจากสภาพแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ สะดวกต่อการลงทุนเพิ่มและพร้อมพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่ สอดคล้องกับที่ นักลงทุนญี่ปุ่น กล่าวถึง EEC ว่ามีศักยภาพ เหมาะสมแก่การลงทุนแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศของไทย มีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกันทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( เลขาฯ EEC) และ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบง กิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation: SMBC) หนึ่งในสถาบันการเงินที่มีเครือข่ายนักลงทุนมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันลงนามบันทึกเข้าใจ (MOU) สร้างความร่วมมือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนไทย-ญี่ปุ่น สนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC โดยธนาคาร SMBC จะร่วมมือกับ EEC ในการให้ข้อมูลและ สนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนญี่ปุ่นและชาติอื่นที่มีความต้องการขยายความต้องการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและภาคการผลิต ฟื้นฟูภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศจากโควิด-19 และสานต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียน

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถของ EEC เพื่อมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าสนใจ อุตสาหกรรม New S-Curve ต่อเนื่อง เสริมต่อความได้เปรียบด้านพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ต่อยอดกับการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่น พร้อมกำชับถึงความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน”