“นฤมล” เร่งปรับระบบเศรษฐกิจฐานราก สร้างฐานประเทศ รับมือวิกฤตเชิงซ้อน

  • ลุยเต็มสูบ! ดันเกษตรกรพ้นกับดักยากจน
  • เผย พปชร. เร่งดำเนินการ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหา
  • หวังตอบโจทย์ปัญหาให้เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนอย่างยั่งยืน
  • ชี้ต้องใช้การตลาดนำการผลิต ไม่ใช่ปล่อยให้ผลผลิตออกมาเหมือนกัน
  • จนเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาต่ำ ไม่คุ้มต้นทุน

วันนี้ (22 มิ.ย.65) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวโดยกล่างถึงการร่วมหารือกับ นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และทีมเศรษฐกิจฐานรากของพรรคฯ เกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปราะบางมากในช่วงนี้เนื่องจากไทยกำลังเจอกับวิกฤตเชิงซ้อน เงินเฟ้อ ของแพง ประชาชนมีรายได้ลดลงและคงที่ 

โดยการแก้ไขเศรษฐกิจที่ระดับมหภาคไม่เพียงพอ ต้องให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจฐานราก จึงจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเพราะหากล้ม เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะเติบโตได้อย่างเข็มแข็ง ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจะเร่งดำเนินการ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อเร่งแก้และตอบโจทย์ปัญหาให้เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นเศรษฐกิจแนวราบส่งผลและสร้างความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างผู้คนในชุมชนท้องถิ่น มิใช่เศรษฐกิจแนวดิ่งแบบปัจเจก เศรษฐกิจฐานรากสามารถทำให้เกิดความร่วมมือ เกิดโอกาสและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเศรษฐกิจร่วมของชุมชนกับเศรษฐกิจของปัจเจก เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนสร้างความสัมพันธ์ ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในระดับที่กว้างขวางอื่น ๆ และภายนอก

นางนฤมล ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้องมองแบบองค์รวม ในทุกมิติ ซึ่งพบว่ากลุ่มคน 40% ของประชากรไทย หรือ 26.9 ล้านคนมีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน และส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้เป็นเกษตรกร  ดังนั้นภาคเกษตรยังถือเป็นแหล่งสร้างงานอันดับ 1 ของประเทศ ประมาณ 34 % ของแรงงานไทยมีอาชีพเกษตรกรรมซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศไทย แต่รายได้ภาคการเกษตรมีสัดส่วนเพียง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)   โครงสร้างแบบนี้ สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ที่ฐานรากของประเทศติดอยู่ในกับดักความยากจน ผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้มีปัญหาหนี้สิน ตามมาด้วยปัญหาในครัวเรือนและสังคม

“หากจะปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ต้องกล้ารื้อที่ฐานราก ต้องกล้าตั้งเป้าหมายว่าเกษตรกรไทยต้องพ้นกับดักความยากจนเริ่มที่ต้องกล้าตั้งเป้าลดสัดส่วนคนในภาคการเกษตร โยกคนประมาณร้อยละ 10 ไปในอุตสาหกรรมที่รายได้สูงกว่าพร้อมแผนปรับทักษะ ถึงแม้จำนวนคนในภาคการเกษตรลดลง จะไม่เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิต ต่อยอดด้วยนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร และยึดโยงเข้ากับเศรษฐกิจฐานราก และหัวใจสำคัญ ต้องใช้การตลาดนำการผลิต ไม่ใช่ปล่อยให้ผลผลิตออกมาเหมือนกันและพร้อมกัน เกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาต่ำ ไม่คุ้มต้นทุน แล้วมารอแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการชดเชยเยียวยาในรูปแบบการประกันราคาหรือการจำนำ ซึ่งสิ้นเปลืองมาก” นางนฤมล กล่าว