นกแอร์ชิงจังหวะยื่นแผนฟื้นฟูฯหวังฟื้นเร็วก่อนโควิด-19 จบ รับท่องเที่ยวบูม-เดินหน้าให้บริการบินปกติ

  • นกแอร์ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการฯ 30 กรกฎาคม 2563 หวังปรับโครงสร้างหนี้
  • ปรับปรุงเส้นทางบิน-ฝูงบิน หวังฟื้นฟูสำเร็จเร็วก่อนโควิด-19 จบ
  • เตรียมรับท่องเที่ยวบูม ยืนยันยังให้บริการบินทุกเส้นทางตามปกติ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)ผู้ให้บริการสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วาระพิเศษครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ และให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เมื่อเวลา 11.00 น. และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 และนัดไต่สวนคำร้องฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น.

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้บริษัทฯ ในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ ทั้งนี้เพราะบริษัทฯ เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัทฯ ภายใต้การกำกับดูแลของศาลฯ เพื่อให้กิจการของบริษัทฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเลิกหรือชำระบัญชีบริษัทฯ หรือไม่ได้ มุ่งหมายให้บริษัทฯ ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามบริษัทฯ กลับมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่เป็นอย่างยิ่งในการที่จะดำเนินกิจการต่อไปให้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง เพราะปัญหาในปัจจุบันของบริษัทฯ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจแต่เกิดจากปัจจัยหลายประการ

รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้บริษัทฯ เกิดข้อติดขัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ หากมีการปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม บริษัทฯ จะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ทั้งบริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตามปกติในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้การบริการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ

แนวทางเบื้องต้นของการฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้สร็จสิ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ การบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพในการทางานของพนักงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล
บริษัทฯ ได้เสนอให้ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี นายเกษมสันต์ วีระกุล นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผน

นายประเสริฐ เผยต่ออีกว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงบริษัทฯไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้โดยสาร ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า ลูกหนี้ เจ้าหนี้ พนักงานบริษัทฯ ผู้ลงทุน ประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยบริษัทฯ ได้เล็งเห็นแล้วว่าในขณะนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังมีการเดินทางกันไม่มากนักเพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากกว่าในภาวะปกติ

ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาดโควิด-19 จะยุติลง ซึ่งนั่นหมายถึงบริษัทฯ จะมีความพร้อมอย่างเต็มที่และสามารถให้บริการอย่างดีเยี่ยมเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี