ธ.ก.ส. เดินหน้าโอนเงินประกันรายได้พร้อมเงินค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

  • วงเงินรวมกว่า 160,000 ล้านบาท
  • เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน
  • “อาคม”​ ตรวจเยี่ยมส่งมอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.ร้อยเอ็ด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ธันวาคม 2564) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 โดยมีนายทองลักษณ์ หาญศึก กรรมการ ธ.ก.ส. นายสุรชัย รัศมี นายกษาปณ์ เงินรวง และนายสมชาย คมพงษ์ปภา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. นำโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร วงเงินรวมกว่า 160,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.69 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 (เพิ่มเติม) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ได้รับผลตอบแทนจากการผลิตที่เหมาะสม เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน และช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ จำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 – 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท ในส่วนพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เกษตรกร จำนวน 219,718 ครัวเรือน เป็นเงิน 4,213 ล้านบาท

2. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี เพื่อที่จะมีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณจำนวน 53,871.84 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 4.69 ล้านครัวเรือน โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 13 – 17 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะเริ่มโอนวันที่ 14-17 ธันวาคม 2564 โดยมีเกษตรกรได้รับเงินจำนวน 4,452,805 ครัวเรือน เป็นเงิน 51,988 ล้านบาท ในส่วนพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีการโอนเงินค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวให้เกษตรกร จำนวน 224,921 ครัวเรือน วงเงิน 2,684 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ

3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 ซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานในการสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลได้สนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน โดยกรณีเกษตรกรเก็บเข้าเองจะได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2565 และ

4. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 สำหรับสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพ เช่น การลดความชื้น การแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระแทน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2565