ธ.ก.ส.คาดเดือนต.ค.ราคาข้าวเปลือก-หอมมะลิพุ่งต่อเนื่อง

  • หลังพื้นที่ปลูกข้าวจ.อุดรธานีโดนน้ำท่วมหนัก
  • ฟิลิปปินส์ข้าวขาดตลาดเเปิดโอกาสผู้ส่งออกไทย
  • ส่วนยางยังราคาตกต่อเนื่องไม่ถึง 40 บาทต่อกก.

นายสมเกียรติ  กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนต.ค. 2562  ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.25-4.44% อยู่ที่ 7,935-8,185 บาทต่อตัน เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์มีปัญหาข้าวขาดตลาด ทำให้ข้าวภายในประเทศมีราคาสูงมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกข้าวไทยที่จะส่งข้าวไปขายเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ‪1.37-2.63‬% อยู่ที่ 16,832-17,041 บาทต่อตัน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ ในจังหวัดอุบลราชธานี  ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

ส่วนน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  ‪2.50-5.70‬% อยู่ที่ ‪7.69-7.93‬ บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เนื่องจากการปรับลดประมาณการผลผลิตน้ำตาลของบราซิลในปี 2562/63 เหลือ 25.7 ล้านตัน จากคาดการณ์เดิม 27.8 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ‪0.38 – 1.94‬% อยู่ที่ ‪2.58 – 2.63‬ บาทต่อกก. เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรับซื้อน้ำมันปาล์มเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า จะเป็นการช่วยลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มลง

​            ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาลดลงจากเดือนก่อน  ‪1.63-4.99‬% อยู่ที่ 13,529-14,009 บาทต่อตัน เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดและมีการนำเข้าข้าวเหนียวบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ ‪1.00-1.50‬ อยู่ที่ ‪7.36-7.40‬ บาทต่อกก. เนื่องจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่ความชื้นสูง ส่งผลให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง

ส่วนยางพาราแผ่นดิบ ราคาลดลงจากเดือนก่อน 0.60 – 2.39% อยู่ที่ 37.15 – 37.83 บาทต่อกก. เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตในเดือนต.ค.จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการกรีดยางพารา ประกอบกับสถานการณ์เงินบาทยังคงแข็งค่า และเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง

ขณะที่มันสำปะหลัง ราคาลดลงจากเดือนก่อน  ‪0.61 – 4.32‬ %อยู่ที่ ‪1.61 -1.55‬ บาทต่อกก. เนื่องจากปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังทยอยออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพมันสำปะหลังลดลงจากปัญหาอุทกภัยและโรคใบด่าง ส่วนสุกร ลดลงจากเดือนก่อน 3.22 – 4.46% อยู่ที่ 63.25 – 64.07 บาทต่อกก. เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ประชาชนไม่กล้าบริโภคเนื้อสุกร ประกอบกับเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง

” กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงจากเดือนก่อน 0.62 – 3.03 % อยู่ที่ 120.50 – 123.50 บาทต่อกก. เนื่องจากสถานการณ์เงินบาทยังคงแข็งค่า เป็นแรงกดดันให้การส่งออกกุ้งไทยลดลง และเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง ขณะที่ปริมาณกุ้งออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น”