ธุรกิจ “รอดชีวิต” ในวิกฤตโควิด-19

กำลังจะผ่าน 14 วันแรกแล้ว สำหรับการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด และเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการเล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ 13 จังหวัด ท่ามกลางสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่ดีขึ้น 

จากหลักหมื่นต้นๆ ขึ้นมาสู่หลักหมื่นกลาง และกำลังลุ้นสุดชีวิตเพื่อไม่ให้ขึ้นไปสู่หลักหมื่นปลายๆ หรือทะลุ 20,000 คนต่อวัน 

15 เดือนเต็มจากการล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือน เม.ย.63 มีการประเมินกันว่า มีจำนวนคนตกงานแล้วในหลักหลายล้านคน โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 

จากการะบาดรอบแรก สู่รอบที่ 2 มาจนถึงรอบที่ 3 พลัสเดลตา หรือบางคนเรียกว่า รอบที่ 4 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยครั้งละหลายแสนล้านบาท โดยหากพิจารณามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ตั้งแต่สิ้นปี 62 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 63 ลดลงประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท และความเสียหายกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก

โดยผลกระทบเกิดขึ้นแทบทุกธุรกิจของประเทศไทย จากกำลังซื้อที่ถดถอยทั้งจากในประเทศ กำลังซื้อจากต่างประเทศ รวมทั้งรายได้หลักของประเทศจากการท่องเที่ยวที่กลายเป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่มีความแตกต่างมาก แต่ละธุรกิจจึงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่แตกต่างกันไปด้วย 

ในขณะที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาก ยังมีบางธุรกิจเช่นกันที่เอาตัวยังรอดอยู่ได้ในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้  บางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย รายได้ลดลงไม่มาก ขณะที่บางธุรกิจมีโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤต ทำให้รายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานล่าสุด “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” โดยได้มีการสำรวจ “ฐานะทางการเงิน” และความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ในช่วงการระบาดรอบที่ 3 โดยได้แยกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามความรุนแรงไว้ 4 กลุ่ม คือ 

กลุมแรก คือ ธุรกิจในโซนแดง หรือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก สถานการณ์ย่ำแย่มากที่สุดจากวิกฤตโควิด -19 ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรมที่พักที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก บริษัททัวร์ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเป็นหลัก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  สายการบิน รถทัวร์ และธุรกิจคอนโดมิเนียมที่เน้นกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ 

ธุรกิจในโซนนี้ถูกกระทบหนักทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ทำให้รายได้กลายเป็นศูนย์ หรือรายได้ลดลงมาก และพบว่ามีจำนวนหนึ่งที่ปิดกิจการถาวรในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่มที่  2  ธุรกิจในโซนสีส้ม หรือ ธุรกิจที่ถูกกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ในการระบาด 2 ระลอกแรก และยังถูกซ้ำเติมเพิ่มขึ้นอีกในการระบาดระลอกที่ 3 ทำให้ธุรกิจมีรายได้ลดลงจากช่วงก่อนโควิดค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการประคองตัวสุดกำลังเพื่อให้ไปต่อไปได้ โดยมีบางรายที่ปิดกิจการชั่วคราว

ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรมในในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยว  ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว บริการรับจัดงานนEvent ต่างๆ  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและการบันเทิง  ธุรกิจการค้า ร้านค้า พื้นที่ค้าปลีก ธุรกิจบริการ ธุรกิจก่อสร้างเอสเอ็มอีที่รับงานต่อจากธุรกิจก่อสร้างเอกชน  ร้านอาหาร   และรถโดยสารสาธารณะ 

ขณะที่กลุ่มพิเศษ คือ คอนโดมิเนียมที่พึ่งพากำลังซื้อจากคนไทย ก็เป็นอีกธุรกิจที่อยู่ในภาวะยากลำบากเช่นกัน รวมทั้งธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีปัญหาเดิมที่ีขีดความสามารถในการแข่งขันในการผลิต และขายสินค้าอยู่แล้ว ก๋กระทบเพิ่มเติมจากวิกฤตโควิด

มาต่อกันที่ กลุ่มที่ 3 ธุรกิจในโซนสีเหลือง หรือ ธุรกิจที่รายได้ลดลงชั่วคราว แต่ภาพรวมของธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไปต่อได้ ถือว่าได้รับผลกระทบไม่ร้ายแรง และเป็นผู้ที่พอจะอยู่รอดในวิกฤตโควิดครั้งนี้ 

ประกอบด้วย ธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ที่รับงานโครงการรัฐ ธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจปิโตรเลียม และธุรกิจผลิตอาหาร 

และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 4 ธุรกิจที่ “อยู่รอด”อย่างแท้จริง รายได้ถูกระทบไม่มาก ธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หรือ ธุรกิจในโซนสีเขียว ประกอบด้วย ธุรกิจถุงมือยาง ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจอิเลกทรอนิกส์ ธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี และธุรกิจขนส่งสินค้า และบริการ ธุรกิจที่อยู่อาศัยในแนวราบ รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก ในส่วนที่เริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 สำหรับธุรกิจที่ถูกกระทบหนักมาก ธปท.ได้รับเสียงสะท้อนจากธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและขนส่งผู้โดยสาร ถึงสถานการณ์ที่แย่ลงมาก 

โดย ธุรกิจร้านอาหาร ถูกกระทบจากยอดขายลดลงจากการหา้มรับประทานอาหารภายในร้านและห้ามเปิดในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ขณะท่ี ยอดขาย online ช่วยชดเชยยอดขายได้เพียง 20-30% เท่านั้น ไม่สามารถทดแทนได้มากมายอย่างที่คิดกัน

ด้าน ธุรกิจโรงแรมที่พัก อัตราการเข้าพักในเดือน ก.ค.เฉลี่ยต่ำกว่า 10% จากช่วงระลอกที่ 2 ที่อยู่ประมาณ 20-30% โดยการจัดประชุมสัมมนาถูกยกเลิกเกือบหมด ขณะท่ีผลบวกจากการเปิด Sandbox มีไม่มากและจำกัดอยู่ในโรงแรมบางกลุ่ม ทำให้ภาพรวมโรงแรมบางส่วนปิดตัวช่ัวคราวเพื่อรักษาเงินทุน 

ขณะที่ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ถูกกระทบมากขึ้น จากเที่ยววิ่งที่ลดลงทั้งการเดินทางข้ามจังหวัดและในจังหวัดเดียวกัน

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าว ธปท.ได้ประเมินภาพจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ไว้ด้วยว่า จะมีระยะเวลายาวนาน 3-6 เดือน และอาจจะมีการเพิ่มมาตรการการล็อกดาวน์ และการปิดชั่วคราวของหมวดหมู่ทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น  

และอาจจะทำให้ธุรกิจที่วันนี้อยู่ในโซนเขียวได้ระดับผลกระทบที่มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจในโซนเหลือง หรือโซนส้ม อาจจะขยับต่ำลงไปเป็นโซนแดงได้

ขณะเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ ธปท.ติดตามต่อเนื่องเพื่อประเมินภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ธุรกิจ และภาคแรงงานของไทย คือความเสียหายจากโควิด-19 รอบนี้ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย หรือหมายความถึง ผลกระทบเพิ่มเติมที่คนไทยและธุรกิจไทยต้องเผชิญเพิ่มขึ้นอีก หลังจากการหดตัวของเศรษฐกิจในปีก่อน 

โดยคาดจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ความเสียหายจะอยู่ได้ตั้งแต่ 0.8-2% หรือตั้งแต่ 1.24-3.12 แสนล้านบาท และจะมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เลวร้ายลง

ดังนั้น  ณ จุดนี้ แม้ว่าในวิกฤตครั้งนี้ ยังพอมีทางออกทางรอดของบางธุรกิจเหลืออยู่บ้าง แต่สถานการณ์ที่แย่ลง ส่อเค้าจะต้องใช้เวลายาวนานในการจัดการ 

ทุกธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในโซนไหน จะโซนเขียว เหลือง ส้ม หรือแดง ยังไม่มีใครรอดได้อย่างแท้จริง ยังคงต้องเตรียมพร้อมเพิ่มขึ้น รับมือกับความเปราะบางของฐานะทางการเงินและผลกระทบทางลบที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

#TheJournalistClub #โควิด19 #วัคซีนโควิด #ล็อกดาวน์ #เศรษฐกิจคิดง่าย