ธุรกิจยาสมุนไพรจีนคุกคามชีวิตสัตว์ป่าแอฟริกา

.เสี่ยงหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์-ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

.หลังจีนส่งหมอ-ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแทรกซึมตลาด

.อ้างเป็นความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข

เว็บไซต์อัลจาซีราห์รายงานว่า รายงานฉบับล่าสุด ของสำนักงานสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เผยธุรกิจแพทย์แผนโบราณ และยาสมุนไพรของจีน (ทีซีเอ็ม) ที่ได้รับการสนุบสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง และกำลังที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา เสี่ยงต่อการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย และกำลังคุกคามชีวิตสัตว์ป่ามากที่สุดในโลก จนอาจทำให้สัตว์บางชนิด อย่าง ตัวนิ่มใกล้สูญพันธุ์

อีไอเอ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีหน้าที่สอบสวนคดีอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ระบุในรายงานที่เผยแพร่วานนี้ (10 พ.ย.)ว่า ขณะที่ตลาดทีซีเอ็มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ ความเข้าใจของผู้คนในทวีปแอฟริกา ที่ว่าชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่าที่นำไปทำเป็นยาสมุนไพรนั้น มีสรรพคุณสูง  รักษาโรคให้หายได้ จึงเป็นเหมือนยาที่สร้างความหายนะแก่สัตว์บางชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น เสือดาว ตัวนิ่ม และแรด

โดยตัวนิ่ม เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถป้องตัวเองได้ แม้ตัวจะเต็มไปด้วยเกล็ด แต่เนื้อนิ่ม และเกล็ดของมันเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดจีน ด้วยความเชื่อที่ว่า อาหารหรือยาที่ผลิตจากตัวนิ่ม มีสรรพคุณที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยรักษาโรคกระเพาะ ส่วนเกล็ดตัวนิ่ม มีเคราติน ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของผิวหนัง เส้นผม เล็บ และส่วนต่างๆ ของร่างกาย เหมือนกับเล็บมือ เล็บเท้าของมนุษย์

ทางการจีนสนับสนุนให้มีการใช้ทีซีเอ็มตลอดเส้นทางการพัฒนาถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วทวีปแอฟริกาตามข้อริรเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) จนทำให้ความต้องการยาสมุนไพรจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ ประชากรสัตว์ป่า อย่างตัวนิ่มและแรดลดลงเรื่อยๆ

เซเรส แคม นักรณรงค์เพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่าของอีไอเอ กล่าวว่า ธุรกิจยาสมุนไพรจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา อีกทั้งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า หรือชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่ามากขึ้น เป็นแรงจูงใจทำให้เกิดคดีอาญาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่า และท้ายที่สุดนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ที่เกินตัว”

พร้อมย้ำว่า “เราเข้าใจว่ายาสมุนไพร มีความสำคัญในหลายๆ วัฒนธรรม และมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพในแอฟริกา และนอกทวีปแอฟริกา สิ่งที่เรากังวลอย่างมากตอนนี้ คือ การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของทีซีเอ็มในแอฟริกา ซึ่งมาตามเส้นทางพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานบีอาร์ไอ และจะยิ่งทำให้สัตว์ป่าน้อยลง”

รายงานดังกล่าว ระบุว่า ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ยาสมุนไพรจีน และคลีนิกจีน ที่ให้บริการยาสมุนไพรจีน กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วทวีปแอฟริกา โดยรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมยอดขาย อย่างไรก็ตาม อีไอเอ เสนอแนะให้รัฐบาลประเทศต่างๆ สนับสนุนความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนบนพื้นฐานรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการวางแผนปลูกพืชสมุนไพรระยะยาว และมีมาตรการเฝ้าระวัง   

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต และให้ความช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพแก่หลายประเทศในแอฟริกา รวมถึงส่งคณะแพทย์ไปยังแอฟริกานับตั้งแต่ปี 2506 ปัจจุบัน มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อย่างน้อย 21,000 คน และเจ้าหน้าที่ทีซีเอ็มกว่า 2,000 คน ที่ให้บริการทางการแพทย์แผนโบราณใน 45 ประเทศในแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย แคเมอรูน มาลาวี แทนซาเนีย ยูกันดา แซมเบีย และซิมบับเว