ธปท. แถลงด่วน!! ออก 4 มาตรการ ผ่อนคลายเกณฑ์นำเงินออกนอกประเทศ

  • หวังลดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด กดค่าบาทอ่อน เพิ่มวงเงินที่ผู้ส่งออกจะพักเงินไว้ในต่างประเทศ
  • ให้นักลงทุนออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประทเทศเพิ่มขึ้น เพิ่มวงเงินโอนไปต่างประเทศ
  • พร้อมให้ซื้อขายทองคำเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เชื่อบาทอ่อนลงแน่

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้มีการปรับปรุงดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย และทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาและการไหลออกของเงินทุน ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว และแข็งค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าเงินที่ไหลเข้าประเทศไทยในขณะนี้ เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างมากกว่าการเข้ามาพักเงินระยะสั้นๆ ของนักลงทุนต่างประเทศ โดยหากดูในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่า ประเทศไทยเกินดุบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 26,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เข้ามา 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้เงินตราต่างประเทศรวมๆ  34,400 ล้านเหรียญฯ ที่เข้ามากดดดันค่าเงินบาทของไทย อย่างไรก็ตามนี้ เงินเหล่านี้ เป็นเงินที่เข้ามาในภาคเศรษฐกิจจริง มาจากเงินค้าขายที่ได้จริงและจากรายได้ของการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเงินที่ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ และการย้ายฐานการผลิตในประเทศไทย ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเงินระยะสั้น  9 เดือนแรกนี้ ติดลบ 3,100 ล้านเหรียญ เป็นส่วนของการไหลออก

“ธปท.มีความกังวลต่อเนื่องถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว และแข็งค่ากว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน  สาเหตุหนึ่งเพราะเราไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง ของการกีดกันทางการค้า โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท.ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ และผมเองได้หารือกับท่าน รมว.คลังมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นพ้องกันว่าต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และการหาแนวทางร่วมกัน ทั้งธปท.และรัฐบาลเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลง”

ผู้ว่าการธปท. กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ โดยมีด้วยกัน 4 มาตรการ และจะมีผลพร้อมกันในวันที่ 8 พ.ย.นี้ มาตรการที่ 1 การยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับเข้ามาในประเทศ  โดยจากเดิมนั้นการส่งออกต่อครั้ง หรือต่อใบขนของผู้ส่งออก ถ้ามีรายได้มากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ  หากไม่มีธุรกรรมที่จะต้องดำเนินการในต่างประเทศต่อเนื่อง ธปท.กำหนดให้ผู้ส่งออกนำเงินกลับเข้าประเทศภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้ค้างไว้ในต่างประเทศ

แต่เกณฑ์ใหม่นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถที่จะพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรม หรือลงทุนได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยลดแรงกดดันของการนำเข้าตราต่างประเทศในช่วงที่ระบบการเงินโลกผันผวน และลดการแข็งค่าของเงินบาท และลดต้นทุนการแปลงค่าเงินของผู้ส่งออก 

รวมถึง ธปท.ได้เพิ่มวงเงินต่อใบขนที่สามารถพักเงินไว้ในต่างประเทศได้ หากมีรายได้ไม่เกิน 200,000 เหรียญฯต่อใบขนส่งสินค้า ซึ่งครอบคลุมใบขนได้ประมาณ 50% ของการส่งออกทั้งหมด และได้หารือกับ รมว.คลังแล้วว่าในอีก 3  เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเหรียญต่อใบขน ซึ่งจะครอบคลุมประมาณ 80% และกรณีที่มีรายได้ต่อใบขนเกินกำหนด ธปท.อนุญาตให้ผู้ส่งออกหักกลบลบหนี้ หรือหักลบรายได้กับรายจ่ายในต่างประเทศก่อนได้ เหลือเท่าไรค่อยมาพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าว

มาตรการที่ 2 คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เป็นครั้งแรกที่จะมีอนุญาตนักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ด้วยตัวเองได้ โดยไม่ผ่านตัวกลาง ในวงเงินลงทุน  200,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมจะต้องเป็ผู้ที่เงินรายได้เกิน 50 ล้านบาทหรือต้องลงทุนผ่านตัวกลาง โดยให้นักลงทุนมาขึ้นทะเบียนกับธปท. และแจ้งยอดคงค้างการลงทุนให้ธปท.รับทราบทุกปี 

“กรณีนี้ช่วยทำให้คนไทยจำนวนมากที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศ มีที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสม และกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น ลดต้นทุนค่าบริการจัดการเงิน และต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต้องทำผ่านตัวกลาง แต่กรณีนี้ ผมขอเน้นย้ำว่า นักลงทุนจะต้องมั่นใจว่ามีความรู้ทางการเงินและรับความเสี่ยงได้จริง ถ้าไม่แน่ใจอาจจะต้องลงทุนผ่านตัวกลางต่อไป นอกจากั้น ธปท.ยังได้ เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายปี จากเดิม 100,000 ล้านเหรียญฯ เป็น 150,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดกระบวนการการขออนุญาติและข้อจำกัดในการบริหารวงเงินของบริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนในต่างประเทศด้วย”

สำหรับมาตรการที่ 3 ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เป็นการเพิ่มจำนวนการโอนเงินออกไปนอกประเทศ โดยปรับเป็นการโอนเงินแบบเปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ จากเดิมที่จะโอนได้เฉพาะวัตถุประสงค์ที่ธปท.กำนด แต่อย่างไรก็ตามยังมียกเว้นเพียงในบารายการ (negative list) อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่กระทบต่อเสถียรภาพของประเทศโดยรวม

ขณะเดียวกัน ยังอนุญาตให้คนไทยสามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติ ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี ไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการโอนเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพิ่มวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญฯต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศนอกจากนั้น ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศจากเดิมกำหนดทำไม่เกิน 50,000 เหรียญฯต่อครั้ง เพิ่มเป็นไม่เกิน 200,000 เหรียญต่อครั้ง ให้โอนได้ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานต่อธปท.

ส่วนมาตรการที่ 4 คือ การซื้อขายทองคำ โดยที่ผ่านมาในช่วงเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในทองคำมากขึ้นทำให้ราคาทองคำโลกขึ้น และคนไทยจะขายทองคำ ทำให้ค่าเงินบาทต้องรับแรงกระแทก 2 เด้ง ทั้งจากเงินลงทุนที่เข้ามาพักในไทยโดยตรง และยังมีเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการขายทองคำมาเพิ่ม ดังนั้น ธปท.อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. สามารถชำระราคาค่าทองในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย  ซึ่งจะทำให้การซื้อขายทองคำไม่กระทบเงินบาท ลดการแปลงค่าเงินของบริษัทผู้ค้าทองคำและลดแรงกกดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าผู้ส่งออกจะให้ความร่วมมือและช่วยลดเงินตราต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาในประเทศได้ และค่าเงินบาทในช่วงต่อไปน่าจะมีทิศทางอ่อนลงได้ เพราะมี 2 แรงมาช่วยกันทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. 0.25% และการออกมาตรการดูแลค่าบาท โดยจะประเมินผลการออกมาตรการทุก 3 เดือน และหากยังไม่เพียงพอาจจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมได้อีก