ธปท.เตรียมลดประมาณการเศรษฐกิจตาม สศช.

  • ชี้ความเสี่ยงต่างประเทศพุ่ง-ส่งออกทรุด-เบิกจ่ายล่าช้า 
  • แจงปีนี้โต 3% ไม่เลวร้าย “วิรไท” ยันไม่ซ้ำรอยปี 40 
  • เตรียมรับมือราคาหุ้น-พันธบัตร-ค่าเงินผันผวนแรง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของ ธปท. สำนักงานภาคตะวันเฉียงเหนือ ถึงความเสี่ยงในของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งที่ผ่านมา ธปท.พบตัวเลขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะความเสี่ยงในต่างประเทศใน 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ การกีดกันทางการค้าทั่วโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เรื่องที่ 2 คือการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Beexit) ซึ่งหากออกโดยไม่มีข้อตกลงจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกและการส่งออกสินค้าระหว่างยุโรปกับสหราชอาณาจักร ส่วนเรื่องที่ 3 คือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตะวันออกกลางที่มีพัฒนาการในทางลบและล่าสุดความขีดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ขณะที่ปัจจัยในประเทศ การชะลอตัวของการส่งออกของไทยเริ่มกระทบต่อภาคการผลิต และการจ้างงาน ขณะที่มีปัญหาภัยแล้งรุนแรงในบางพื้นที่ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้มีปัญหาในการเบิกจ่ายเงินประมาณ 

โดยงบประมาณร่ายจ่ายประมาณรายจ่ายปี 63 จากที่ต้องจ่ายในเดือน ต.ค.นี้คาดว่าจะจ่ายได้ในเดือน ก.พ.หรือเดือน มี.ค.ปีหน้า ขณะที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 โต 2.3% และลดการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีลงที่ 2.7-3.2%

“ในการประชุม กนง.ครั้งหน้า กนง.เตรียมที่จะปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากที่คาดไว้ 3.3% แต่ขอชี้แจงว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ได้เกิดภาวะวิกฤต หรือเป็นเหมือนกับช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะประเทศไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ระบบการเงิน และสถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่ง ทำให้ไม่เกิดวิกฤตการเงินเหมือนปี 40 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอัตรา 3% ไม่ถือว่าเป็นการขยายตัวที่เลวร้าย ขณะที่การส่งออกทั้งปีที่ติดลบ 4-5% นั้น ยังถือว่าติดลบน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านที่ ตัวเลขส่งออกของเขาติดลบเป็นเลข 2 หลัก”

ผู้ว่าการธปท. ยังได้กล่าวถึงค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ไม่สบายใจที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเร็ว และที่ผ่านมาได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินในระดับที่สมควรเพื่อไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป แต่ทำในช่วงที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นหลัก โดยล่าสุดเกินดุลที่ 16,000-17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ขณะที่ประเด็นการเข้ามาพักลงทุนในประเทศไทยของเงินทุนต่างชาติระยะสั้นนั้น ได้ออกมาตรการเพื่อลดขนาดท่อที่เงินทุนเหล่านั้นจะเข้ามาได้ และประกาศอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ต้องการเงินร้อน ซ่ึ่งทำให้ล่าสุด เงินลงทุนต่างประเทศในหุ้นและตราสารหนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันของนักลงทุนต่างชาติ เป็นการไหลออกประมาณ 300 ล้านเหรียญฯ จากที่เคยเข้ามาประมาณ 1,100-1,200 ล้านเหรียญฯและในช่วงต่อไป ธปท.กำลังจะผ่อนคลายเกณฑ์การออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสร้างความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย

“สำหรับในช่วงต่อไป การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเป็นการเติมเงินหรือการเติมสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินโลกเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ทั้งราคาหุ้น ราคาพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยนที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนและผู้ประกอบการควรจะระมัดระวัง โดยในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ และรัฐบาล รวมทั้งธปท.สนับสนุนคือ การเปลี่ยนการขายสินค้าจากสกุลเงินดอลลาร์ฯเป็นสกุลท้องถิ่นหรือสกุลคู่ค้า ซึ่งวันนี้สามารรถโค้ดราคาค่าเงินตรงในหลายสกุลเงินมากขึ้น การทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ส่งออกนำเข้าไม่ค่อยสนใจทำ และการเปิดบัญชีสกุลเงินตราต่างประเทศ”