ธปท.ร่อนจดหมายเปิดผนึกต่อ รมว.คลัง แจงเงินเฟ้อติดลบ หลุดเป้า!

  • ชี้หลุดกรอบเป้าหมาย กนง.ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
  • ระบุผลกระทบโควิด-19 รุนแรง
  • กิจกรรมเศรษฐกิจโลกหดตัวทั่วโลก
  • ยืนยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืดแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำหนังงสือเปิดผนึกถึง รมว.คลังชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2563 และเป้าหมายระยะปานกลางของธปท. ซึ่งกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1-3 %  โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.62-มิ.ย.63) ติดลบ 0.31 %  ขณะที่จากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ มองไปข้างหน้าประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ก.ค. 63-มิ.ย. 64) จะอยู่ที่ติดลบ 0.9%  ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปีนี้

ทั้งนี้  กนง.ขอชี้แจงใน 3 เรื่องคือ 1.สาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย 2. ระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ3.การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนั้น เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี นี้ และการดำเนินการมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง  และระยะเวลาการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคกท่องเที่ยวและส่งออกที่ได้รับผลกระทบรุนแรง การว่างงานสูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงอีกด้วย นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่ลดต่ำลงมากยังเป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อที่ลดลง รวมทั้งมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลออีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับระยะข้างหน้า กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไทยอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยการประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ติดลบ 0.9 %นั้น มาจากราคาพลังงานโลกยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดลงบ้างในหลายประเทศ แต่ยังคงมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำจากกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม กนง. ยืนยันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มติดลบไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) จาก 4 เงื่อนไข คือ 1.ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน 2.ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่า 70 %ในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว 3. การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังเพิ่มขึ้น 1.8%  และ 4.ความต้อการใช้จ่ายและการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด 

โดยในระยะต่อไป กนง.จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ และจะสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องถึงแนวโน้มเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม หลังจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% และการดำเนินมาตรการด้านสินเชื่อ และการช่วยเหลือสภาพคล่องตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายหรือสูงกว่า 1% ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นต่อเนื่อง กนง. เห็นว่ามาตรการการคลังการเงิน และสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจไม่ให้ลุกลาม โดยเฉพาะการสนับสนุนการจ้างงานและการดูแลธุรกิจเอสเอ็มอี  ทั้งนี้ นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โโยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ