ธปท.ยันไม่ฝืนกลไกค่าเงินบาท แม้ผันผวนจากปัจจัยภายนอก

  • การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังคงเกาะกลุ่มภูมิภาค
  • ไม่เห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติ
  • เร่งป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผันผวนจากข่าวภายนอกประเทศทำให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเยอะ สะท้อนข้อจำกัดของการดูแล เช่น เมื่อช่วง 1-2 วันก่อนหน้านี้ ที่เงินบาทแข็งค่ามาจากเรื่องของจีนและดุลการค้า (Trade Balance) ของไทยที่ตัเลขดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม หากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เกิดขึ้นปัจจุบันยังคงเกาะกลุ่มภูมิภาค โดยยังไม่เห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติจากกลุ่ม ซึ่งค่าเงินบาท ถือว่าอ่อนค่าระดับกลางๆ หากเทียบกับภูมิภาค ซึ่งมีประเทศที่เคลื่อนไหวอ่อนค่านำไทย เช่น เกาหลี และไทยอ่อนกว่า เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

สิ่งที่ ธปท.ต้องการเห็น คือ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่ได้เท่าที่ ธปท.อยากเห็น ส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคย และเรื่องของต้นทุนที่มีต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.พยายามหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเรื่องของนวัตกรรม หรือ FX Ecosystem จะเข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ ดังนั้น ต้องทำระบบเอื้อให้โซลูชั่นต่างๆ เกิดขึ้น

เราอยากเห็นเอสเอ็มอีมองการทำ Hedging เหมือนการทำประกัน แต่ผู้ประกอบการจะมองว่าส่วนต่าง Margin น้อย และเสียต้นทุนสูง ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งมองว่า New Player เข้ามาจะช่วยเรื่องนี้ได้ แต่มองว่าสิ่งที่เราไม่ควรทำ คือ การทำประกันให้ทุกคน เพื่อทำให้ค่าเงินไม่เคลื่อนไหวเลย อันนี้เราได้บทเรียนมาแล้วจากในปี 40 โดยการฝืนกลไกตลาดเพื่อช่วยลดผลกระทบจากผู้ประกอบการ แต่การทำแบบนี้ แม้จะลดความผันผวน แต่ทำให้ความเปราะบางต่างๆเพิ่มขึ้น แต่เราไม่อยากเห็นความผันผวนมาก ทำให้บางจังหวะที่ตึงเป็นพิเศษก็ต้องเข้าไปดูแลความผันผวน แต่ไม่ได้เข้าไปฝืนตลาด

ขณะเดียวกันภายใต้ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในต่างประเทศ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและยังไม่ยอมลดระดับลง ซึ่งจะมีผลต่อไทยและนโยบายการเงินหรือไม่นั้น มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยปีนี้อัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.8% และปี 66 ขยายตัว 3.3% ขณะที่ ผลกระทบต่อภาคการส่งออก ประเมินปัจจัยเหล่านี้ไว้พอสมควรแล้ว โดยปีนี้คาดการส่งออกจะขยายตัว 8% และปี 66 จะขยายตัวได้ 1%