“ธนา เธียรอัจฉริยะ ” เผย ประเทศไทยมี 3 อย่าง คือ “สวย-ป่วย -แก่ “

  • อีกใน 8 ปีข้างหน้าจะมีประชากรผู้สูงอายุมากว่า 30%
  • คนไทยยังขาดจิตสำนึกสาธารณะ ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน
  • อยากได้มืออาชีพมาบริหารกระทรวงแต่ละแห่ง

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด หรือ แอปพลิเคชัน Robinhood และที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ตื่น ฟื้น ฝัน: สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน” ซึ่งจัดโดย “ไทยรัฐกรุ๊ป” ว่า ในความฝันผมที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปี 10-20 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบ Super Aged Society ในปี 2030 หรืออีกใน 8 ปีของหน้า เราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากว่า 30% ซึ่งไทยจะเป็นท็อปของโลกเลยทีเดียว ประกอบกับอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราหลีกเหลี่ยงไม่ได้

ประเด็นสำคัญเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ให้ประเทศไทยอยู่ในการแข่งขันในระดับโลกได้ เราอาจจะต้องใช้วิธีบายพาสเพื่อให้คนในประเทศเกิดการเรียนรู้ เป็นโกลบอลซิตี้ ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าสมัยนี้ความสามารถของคนเด่นกว่าองค์กร หรือบริษัท คนเพียงคนเดียวเปลี่ยนแปลงอะไรได้ค่อนข้างมาก

ยกตัวอย่างเช่น โค้ชเช ที่เป็นคนปฏิวัติวงการเทควันโดของไทยได้เลย เหล่านี้จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะดึงดูดคนเก่งๆ จากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยอย่างไร คล้ายๆ กับสิงคโปร์ แต่กระบวนการ หรือโครงสร้างของประเทศไทยค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เราขยับอะไรไม่ได้เลย ผมจึงมองว่าเราจะบายพาสกระทรวงศึกษาธิการอย่างไร องคาพยพที่เปลี่ยนจาก STEM สู่ STEAM ไม่น่าทัน แต่ถ้าเรามีคนเก่งมาบายพาสให้เราจะมีแรงงานที่มีสกิล มีความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น เมื่อเรามั่นคงมากขึ้น และมั่งคั่งมากพอแล้ว ความเท่าเทียมจะตามมาเอง

“ผมมีลูกอายุ 17-18 ปี เขาจะเติบโตมาในสังคมที่มีแต่คนแก่ และคนเก่งทั่วโลกเต็มไปหมดเลย ผมเคยถามคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ว่า คนเก่งในยุคสมัยนี้คืออะไร แกก็ตอบว่าต้องเป็นคนที่มี ability to learn หรือความสามารถในการเรียนรู้ ก็คือกระบวนการสังคมอุดมปัญญา และติดอาวุธที่จะสร้างสังคมในฝัน”

ส่วนประเด็นที่ว่า ศักยภาพคนไทยช่วยพัฒนาประเทศ และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมเป็นนักการตลาดที่มีโอกาสได้คุยกับคนทั่วโลก ประเทศไทยมี 3 อย่าง คือ สวย ป่วย และแก่ 

สวย คือ คนต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชอบมาอยู่ประเทศไทย สิ่งแวดล้อมดี คนน่ารัก มีน้ำใจ

ป่วย คือ ประเทศไทยเก่งด้านเฮลแคร์ ซึ่งต่างประเทศก็จัดอันดับเราให้อยู่ในท็อปเท็นมาตลอด

ดังนั้น เราจะนำ 3 อย่างนี้มาพัฒนาได้อย่างไร ผมจึงต้องถามก่อนว่าระยะสั้นเราต้องการอะไร คำตอบคือ เราต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพ สมัยก่อนจีดีพีไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งนักท่องเที่ยวก็มีหลากหลาย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสฟังไอเดียของ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ผมขอเรียกว่า “ศุภลักษณ์โมเดล” ที่ไม่ได้มองเป็นการแข่งขันภายใน แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นโกลบอลเดสติเนชั่นได้ นักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูง และไม่ทำร้ายธรรมชาติ

อย่างเช่นเมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักท่องเที่ยวเวียดนามเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 10,000 คน เพื่อมาดูคอนเสิร์ตของนักร้องเวียดนามที่มาจัดคอนเสิร์ตที่ไทย โรงแรมโดยรอบพารากอนถูกจองเต็มทุกห้อง มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดต่อว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้อย่างไร เช่น เราต้องมีสถานที่ หากมองในระยะสั้นเราอาจจะยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น หากมีงานแบบนี้รถจะติดมาก เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำสกายวอล์ก หรือเอา WFH มาใช้

“ตอนนี้เราต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้ง่ายเงินให้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้กองอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวแค่แห่งเดียว อันที่สองเราเปลี่ยนการศึกษามากไม่ได้ เราจึงต้องดึงดูดคนเก่งเข้ามาเยอะๆ ดูสิงคโปร์เป็นแบบอย่างก็ได้ สามเราจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดึงดูดคนที่พอมีสตางค์มาอยู่แบบลองสเตย์ โอกาสของไทย ที่ได้นักท่องเที่ยว และคนเก่งมาช่วยสร้าง”

นอกจากคนเก่งแล้ว คนไทยยังขาดจิตสำนึกสาธารณะ ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน ผมว่าการศึกษาเราสำเร็จมากถ้าไม่เห็นมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า หรือคนรวยไม่ใช้สิทธิพิเศษต่างๆ

ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ในฐานะนักธุรกิจ หรือภาคเอกชน อยากได้อะไรจากรัฐบาล สำหรับผมอยากได้มืออาชีพและเชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ มาบริหารกระทรวงแต่ละแห่ง ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีขบวนการแยกปาร์ตี้ลิสต์ กับ ส.ส. ทำให้ไปสู่ความฝันที่มีคนเก่ง มืออาชีพ มาทำงานในรัฐบาลมากขึ้น

ส่วนโครงสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นภาคเอกชนเราจะดูงบประมาณ และมากางดูแล้วตรงไหน คือ ยุทธศาสตร์สำคัญ และไปเพิ่มเงินตรงนั้นให้มากหน่อย รวมถึงการกระจายรายได้ และการเอาเทคโนโลยีมาใช้ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันเราเข้าสู่โลกของแพลตฟอร์มแล้ว