“ธนวรรธน์” มั่นใจมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ ดันจีดีพีโตแตะ 3.2%

  • เริ่มใส่เม็ดเงินลงในบัตรคนจนอับดับแรก
  • แบงก์รัฐรัฐระดมทุนปล่อยสินเชื่อ 1 แสนล้านครึ่งปีหลัง
  • จับตากนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่ก่อนหน้านี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3-3.5% นั้นอาจจำเป็นที่จะต้องมีการปรับลงแต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับลงเท่าไหร่และมองว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ขยายตัวได้ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้อย่างน้อยประมาณ 3-3.2% หรืออยู่ที่เพดานอยู่ที่ 3-3.5%

ดังนั้นอาจทำให้ต้องมีการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของปีนี้คือ 2.8% แต่พบว่ามีการเติบโตเพียงแค่ 2.3% เท่านั้นเพราะที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงมา 5 เดือนตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.62 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า รวมไปถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้ไตรมาส 3 มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2

“รัฐบาลควรที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจตามวงเงิน ที่กระทรวงการคลัง ตั้งไว้ที่ประมาณ 200, ‪000-300‬,000ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือว่าเพียงพอต่อการพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ประมาณ 3-3.2% เพราะเม็ดเงินจะถูกใช้ทันทีในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน และการโอนให้ชาวนาบางส่วนน่าจะมีผลพยุงให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวลงไปอย่างรวดเร็ว และมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ควรขยายตัวได้ที่ 2.6-2.8%”

นอกจากนี้จะต้องดูมาตรการของการท่องเที่ยวจะมีผลเร็วแค่ไหน และแนวทางนโยบายต่างๆเช่น การปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย( SMEs)​ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อธุรกิจทั่วไป เป็นต้น  โดยคาดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะระดมปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างน้อย 50,‪000-100‬,000 ล้านบาท จึงคาดว่าวงเงินที่จะมีการใช้ทั้งหมดในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาส  4 มีประมาณ 100,‪000-200‬,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะผลักให้เศรษฐกิจได้ช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเป็น 3.5-4%ได้ และทำให้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณ 3-3.5% โดยเฉลี่ยได้ หากรวมกับครึ่งปีแรกโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ประมาณ 3-3.2%

“รัฐบาลควรจะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย3-35%  ได้แก่ มาตรการประกันรายได้เกษตรกรเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะประกันรายได้ข้าวและยาง มาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปี  มาตรการเร่งรัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)​  มาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐ ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ยางพารามากขึ้น และ มาตรการทางการเงิน เพื่อพยุงค่าเงินบาท ไม่ให้หลุด 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ​ฯ”

ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.)​ไม่น่าจะปรับเพิ่มหรือลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเร็วๆนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่  1.50% ต่อปี หลังจากปรับลดลง มาแล้วจาก 1.75% ต่อปีในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในระยะนี้จะต้องมีการประเมินผล การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดก่อน อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์ว่าทาง กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562