ท่วมท้น!รัฐสภาลงมติถกรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงใหม่

25 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วในวาระสอง โดยก่อนเข้าสู่วาะที่ประชุมได้ลงมติ 357 ต่อ 42 งดออกเสียง 86 เสียง ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธาน กมธ.ที่มีการทบทวนแก้ไขเมื่อวันที่ 24 ส.ค.เข้าสู่การพิจารณา

โดยนายไพบูลย์ ชี้แจงว่า คณะ กมธ. ได้ปรับแก้ไขรายงานโดยได้ตัดออกหลายมาตรา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น อาทิ มาตรา 85 ว่าด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน บทเฉพาะกาลว่าด้วยกำหนดให้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน หากทำไม่แล้วเสร็จ ให้ กกต. ออกประกาศ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ คณะ กมธ.ได้คงมาตราที่เพิ่มเติม คือ มาตรา 86 เพื่อปรับตัวเลข ส.ส.ให้สอดคล้องกับหลักการที่ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน และคงบทเฉพาะกาลบางส่วนไว้ เพื่อรองรับในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าเกิดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขณะนี้ ก็ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขฉบับนี้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญถือว่าฉุกละหุก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ได้นำเสนอให้รัฐสภาพิจารณา แต่ไม่เห็นเนื้อหาว่าแก้อย่างไร จึงไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีผู้นำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้ไขของ กมธ. ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติ กมธ.แก้ไขเปลี่ยนแปลง แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีการแก้ไขคำแปรญัตติที่ไม่ตรงกับคำขอที่เสนอต่อที่ประชุม ดังนั้น จึงควรถอนร่างรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพื่อกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้เนื้อหาตรงกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเฉพาะ ไม่ต้องการให้มีปัญหากระทบต่อสมาชิกรัฐสภาระยะยาว

นายชวน กล่าวว่า เมื่อ กมธ.แก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องขออนุญาตตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 37 เมื่อคณะกมธ. มีการแก้ไขเพิ่มเติมญัตติ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตของที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้น จึงขอถามที่ประชุมว่าเห็นชอบให้คณะกมธ.นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบ