ทูต WTO หวั่นเจรจาปลดล็อกผลิตวัคซีนไม่สำเร็จสิ้นปีนี้

.หลังอินเดีย-แอฟริกาใต้ขอไม่ทำตามกฎทรัพย์สินทางปัญญา
.ขอเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตวัคซีนหวังปลดล็อกให้ผลิตได้เอง
.แต่อียู-สวิตตั้งการ์ดสูงไม่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูนผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ดับบลิวทีโอ และไวโป) เปิดเผยในระหว่างการเสวนาออนไลน์ “จับตาการปฏิรูปดับบลิวทีโอยุค นิว นอร์มอล” จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่า ขณะนี้ สมาชิกดับบลิวทีโออยู่ระหว่างการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีดับบลิวทีโอ ครั้งที่ 12 (เอ็มซี 12) ในช่วงปลายปีนี้ โดยประเด็นหลักที่จะหารือคือ บทบาทของดับบลิวทีโอต่อการรับมือโควิด-19, การเจรจาความตกลงอุดหนุนประมง, การเจรจาเกษตร และการปฏิรูปองค์กร เพื่อให้ทันสมัย และสอดคล้องกับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยในเรื่องบทบาทดับบลิวทีโอต่อการรับมือโควิด โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดนั้น ขณะนี้ สมาชิกมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (อียู) สวติเซอร์แลนด์ เห็นว่า ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีน เพราะภายใต้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) ของดับบลิวทีโอ เปิดโอกาสให้สมาชิกใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เพื่อให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีน สามารถผลิตวัคซีนที่มีสิทธบัตรได้อยู่แล้ว แต่ต้องหารือถึงขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่จะขอใช้ซีแอลให้ชัดเจน และต้องใช้ซีแอลอย่างโปร่งใส สำหรับไทยหากจะใช้ซีแอล สามารถทำได้ เพราะได้แก้ไขกฎหมายภายในประเทศ เพื่อรองรับการใช้ซีแอลแล้ว


ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา นำโดยอินเดียและแอฟริกาใต้ เสนอให้ยกเว้นการปฏิบัติตามทริปส์ในบางประเด็น (ทริปส์ เวฟเวอร์) เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ การออกแบบอุตสาหกรรม ความลับทางการค้า ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และขอให้ยกเว้นครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น วัคซีน ยาที่มีสารภูมิต้านทาน ยาต้านไวรัส อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น เพื่อปลดล็อกการผลิต และการเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา ที่ล่าสุด ประชากรประเทศกลุ่มนี้ ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 2% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มนี้

แต่สมาชิกส่วนใหญ่มองว่า ข้อเสนอของอินเดีย และแอฟริกาใต้ ปฏิบัติตามได้ยาก ล่าสุด อินเดียได้ปรับลดข้อเสนอ เพื่อให้ปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น คือ เสนอยกเว้นการปฏิบัติตามทริปส์ในระยะเวลา 3 ปี และหลังจากนั้นจะขอทบทวนใหม่ และครอบคลุมเฉพาะยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงวัคซีน อีกทั้งยังต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ขณะที่อียู และสวิตเซอร์แลนด์ จำกัดการเข้าถึง


“การเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน อาจทำให้การเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงวัคซีน มีปัญหา และอาจไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนามีความเห็นต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเอ็มซี 12 จะต้องพยายามหาข้อสรุปให้ได้ เพื่อทำให้เรื่องนี้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา”


นางพิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเจรจาในเอ็มซี 12 ว่า การเจรจาความตกลงอุดหนุนประมง คาดว่า น่าจะมีอะไรที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการเจรจาเกษตร มีสมาชิกเสนอประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว 7 ประเด็น จึงอาจทำให้การเจรจายังไม่สมารถจบได้ทั้งหมด หลังเจรจามานานกว่า 20 ปี