ทีเอสเอ็มซี ผนึกภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลประเทศออสเตรเลีย

  • กดดันอินเดียให้เลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล
  • ปีการผลิต2562/63 ไทยสูญ 1 หมื่นล้านบาท
  • คาดการณ์ผลผลิตปี2564/65พุ่ง90ล้านตัน

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ ทีเอสเอ็มซี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศออสเตรเลีย ได้เสนอให้หน่วยงานภาครัฐ ของออสเตรเลีย ให้ดำเนินการผลักดันอินเดีย ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ให้ยกเลิกการอุดหนุนการปลูกอ้อยของชาวไร่และการส่งออกน้ำตาล ไปยังตลาดโลก ที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวน สร้างความเสียหายและทำลายโอกาสทำรายได้จากการส่งออก ในราคาที่ควรจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เฉลี่ยราคา 17 เซนต์ต่อปอนด์ หลังความต้องการปริมาณน้ำตาลในตลาดโลก เพิ่มขึ้นจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ การศึกษาของประเทศออสเตรเลีย พบว่า การดำเนินนนโยบายของรัฐบาลอินเดียเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ด้วยการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาลส่วนเกิน 6 ล้านตัน โดยระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560/61 – 2563/64) รัฐบาลอินเดียใช้เงินอุดหนุนการส่งออก 65,000 ล้านบาท ซึ่งกดดันให้ราคาตลาดโลกปรับตัวลดลงประมาณปีละ 13.1% และทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของออสเตรเลียสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำตาล 1,530 บาทต่อตันอ้อย หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,500 พันล้านบาท จากปริมาณการส่งออกน้ำตาลปีล่าสุดอยู่ที่ 3 ล้านตัน

สำหรับ ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังตลาดโลกในรอบการผลิตปี2562/63 อยู่ที่ 6 ล้านตันน้ำตาล ได้รับความเสียหาย10,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเชิงปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยที่สูงกว่าออสเตรเลียถึง 2 เท่า ดังนั้น ทีเอสเอ็มซี จึงขอเรียกเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการผลักดันประเทศอินเดีย ให้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนและเรียกร้องให้ปฎิบัติตามกฎกติกาการค้าโลก ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเคร่งครัด

”ประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ต้องสูญเสียโอกาสส่งออกน้ำตาลช่วงที่ราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อินเดียทำให้ราคามีความผันผวนมากขึ้น และหากรัฐบาลอินเดียยังอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อไป ราคาตลาดโลกจะยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต2564/65 ของประเทศไทยจะมี 90 ล้านตัน เนื่องจากชาวไร่อ้อยมีการขยายการเพาะปลูกอ้อยและบำรุงรักษาอ้อยเพิ่มขึ้น ขณะที่ โรงงานน้ำตาลได้สนับสนุนช่วยเหลือชาวไร่ด้านเงินทุนและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมทั้ง การประกันราคาอ้อยที่ตันอ้อยละ 1,000 บาท ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.