ทางออกประเทศ : กู้เพิ่ม-ขยายเพดานหนี้สาธารณะ?

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราในรอบที่ 3 นี้ จะเริ่มลดลงต่อเนื่อง หลังจากแตะจุดสูงสุดที่กว่า 23,000 คนต่อวันไปเมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว ประมาณการกันว่า ผลจากการระบาดและความซบเซาของเศรษฐกิจไทย จะยังอยู่ต่อไปอีกระยะใหญ่ๆ

เพราะกว่าที่ประเทศทั่วโลก จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้มากเพียงพอที่จะทำให้มั่นใจในการใช้ชีวิต และกลับมาเดินทางติดต่อธุรกิจ และเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้เหมือนเดิมก่อนหน้าที่จะเกิด “วิกฤตโควิด-19”ได้นั้น น่าจะต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด อีกประมาณ 1 ปีหลังจากวันนี้ หรือ ประมาณครึ่งปีหลังของปี 65 ภายใต้เงื่อนไขว่า วัคซีนที่เรามีอยู่ในขณะนี้สามารถต่อต้านการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ได้

และหากเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการว่า หลุมลึกของรายได้ของคนไทยที่หายไป ในช่วง 3 ปีของการระบาดของโควิด -19 คือ ปี 63 ที่ผ่านมา ปีนี้ และปี 65 เป็นปีสุดท้าย จะอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท และการจะถมช่องว่างของรายได้ที่หายไปไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะตามสถิติแล้ว คนส่วนหนึ่งมีออกจากตลาดแรงงานไปแล้ว มากกว่า 1 ปี โอกาสที่จะกลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม เป็นไปได้ยากมาก เพราะทุกวันมีเด็กจบใหม่เข้ามาเพิ่มในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน จำนวนกิจการที่เหลืออยู่ หรือสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 60-70% จากยอกเดิมก่อนโควิด และขนาดกิจการ รวมทั้งจำนวนแรงงานที่ใช้ในกิจการจะลดลง

ดังนั้น การที่จะหวังการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเป็นหลักในการฟื้นเศรษฐกิจ เหมือนหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาคงทำได้ลำบากมากขึ้น
โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายในไม่เกิน 3-6 เดือน ไม่ว่าในเป็นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน และการรัฐประหาร หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอาจจะไม่เร็วอย่างที่คาด

หนทางเดียวที่ทุกคนคิดออกเวลานี้ คือ การพึ่งพาความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ!!

ทั้งจากมาตรการเยียวยา เพื่อใส่เงินช่วยเหลือทดแทนรายได้ที่หายไปของประชาชนในกลุ่มเปราะบาง มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพ เช่น การปรับลดค่าน้ำ ค่าไฟ มาตรการพยุงชีพ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และให้เงินใหม่สำหรับการประคองชีวิต และธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ มาตรการจ้างงานใหม่ และรักษาแรงงานเดิม

โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทยจากโควิด -19 แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และครั้งที่สอง 500,000 ล้านบาท โดยล่าสุดยังมีเงินที่กู้มาแล้วส่วนนี้เหลืออยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลจากการกู้ดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุด ณ สิ้น ก.ค.64 อยู่ที่ 8,909,063.78 ล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี (จีดีพีที่ใช้ในการคำนวณอยู่ที่ 16,027,047.59 ล้านบาท)

ซึ่งหากมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก หรือ การขยายตัวของจีดีพีปีนี้ไม่เป็นไปตามประมาณการที่กระทรวงการคลังคาดไว้ อัตราส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพี มีโอกาสสูงที่จะทะลุ 60% ของจีีดีพี ซึ่งถือเป็น “เส้นเสถียรภาพ” ของกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ดีของรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้ง รัฐบาลไทยเอง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้ เหลือทางเลือกให้รัฐบาลไทยมากนัก!

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในจุดที่ตกต่ำ และความเดือดร้อนพุ่งตรงสู่ประชาชนในระดับ “ฐานราก” การเพิ่มเม็ดเงินทั้ง “เยียวยา บรรเทาค่าครองชีพ เพิ่มสภาพคล่อง ฟื้นฟู และจ้างงาน” ยังมีความจำเป็น “ต้องทำ” และหลายๆ ฝ่ายมองว่าต้องทำให้หนักขึ้น เข้มข้นขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยล่าสุดได้มติขยายเพดานหนี้สาธารณะของ 60% ขึ้นไปเป็น 70% ต่องจีดีพี และให้ทบทวนทุก 3 ปี เพื่อให้รัฐสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น

ซึ่งกรณีดังกล่าว ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ หรือแตกต่างจากสถานการณ์ของรัฐบาลทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และเป็นแนวคิดที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจและภาคเอกชนสนับสนุน ขณะที่จากรายงาน Fiscal Monitor ของกอองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือน เม.ย. 63 รวมทั้ง บทวิเคราะห์ของ Capital Economics ระบุว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีทั่วโลกจะสูงขึ้นมาก โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 105% เป็น 122% ต่อ GDP และเพิ่มขึ้น 15-30% ใน 3 ปีข้างหน้า

ส่วนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทยนั้น คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 53% เป็น 62% ต่อจีดีพี หากมองยาวขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า บทวิเคราะห์ของ Capital Economics ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้น 5 – 15% ต่อจีดีพี

ขณะที่ ธปท.ระบุก่อนหน้านี้ว่า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงนี้จนถึงหลังวิกฤตโควิด -19 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นการทยอยกู้ ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธาณะของไทยต่อจีดีพีไทยอยู่ที่ 70% ในปี 2567

และจะทยอยลดลงจากปีดังกล่าว หากมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่จะออกเพิ่มเติม “ได้ผล” ทำให้ฐานของจีดีพี และฐานภาษีไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องซึ่งจุดนี้แหละ คือ ประเด็นสำคัญของ “ทางออกประเทศ” มากกว่าจำนวนเงินกู้ หรือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีีดีพี ซึ่งตรงกับคำถามที่ไอเอ็มเอฟให้ความสนใจ และกำลังติดตามว่า เมื่อก่อหนี้เพิ่มแล้ว รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการให้หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมากให้กลับมายั่งยืนอีกครั้งได้อย่างไร

สำหรับประเทศไทยนั้น คงต้องเริ่มพิจารณาจากที่ผ่านมา ว่า เราใช้เงินไป 1.1 ล้านล้านบาทในมาตรการต่างๆ ของรัฐเพื่อการพยุงเศรษฐกิจ ผลที่ได้จริงกลับมามากหรือน้อยแค่ไหน ตามหลัก “การหมุนเงิน” ก้อนใหม่ที่ใส่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ

รวมทั้ง ต้องวัดประสิทธิผลของแต่ละโครงการที่ดำเนินการไปแล้วด้วยว่า แต่ละโครงการได้ผลอย่างไร ควรที่จะได้ “ไปต่อ” หรือไม่ นอกจากนั้น แม้ในโครงการที่ได้ผลดี ก็ควรจะหาทางปรับปรุงให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันตามสถานการณ์เศรษฐกิจและความเดือดร้อนในช่วงต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกัน จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือ การเยียวยาผู้ประกอบการ และการสร้างงานใหม่

โดยยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือค่าจ้าง เพื่อคงการจ้างแรงงานของผู้ประกอบการ หรือโคเพย์ หรือโครงการเพิ่มการจ้างงานในชนบท หรือสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพได้อย่างถาวรในท้องถิ่น สำหรับแรงงานที่คืนถิ่นทั่วประเทศประมาณ 2 ล้านคน

โครงการที่เห็นเป็นเพียงการซ่อม สร้าง หรือฝึกอบรบอาชีพต่างๆ วนๆ ไป ซึ่งได้ผลที่แท้จริงทั้งทางเศรษฐกิจ การเพิ่มศักยภาพของชุมชน และเศรษฐกิจในต่างจังหวัดได้ไม่มากนัก และล่าสุด ยังมีข่าวการตั้งโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้งบอย่างไม่เหมาะสม และไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ในการสร้างเงิน และสร้างงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

การเร่งช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ความคุ้มค่าของเงินแต่ละบาทที่รัฐบาลกู้มาเพื่อช่วยเหลือก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์นั้น คนที่ต้องหามาใช้คืน คือเงินของประชาชนผ่านการจ่ายภาษีในทุกรูปแบบในรัฐ

มาตรการรัฐที่จะออกมาหลังจากนี้ เมื่อรัฐสามารถขยายเพดานหนี้ ให้มีช่องว่างในการกู้หนี้เพิ่มขึ้น ขอให้คิดถึงผลดีที่ประชาชนจะได้รับให้มากที่สุด จัดความช่วยเหลือให้ตรงจุด และที่สำคัญ ไม่ควรมีการทุจริตคอรัปชันเกิดขึ้น