ทางหลวงไม่หยุดยั้งเร่งขยายถนนเสริมศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ในภาคอีสาน

default

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดย สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 202  สาย อ.พยัคฆภูมิพิสัย – อ. เกษตรวิสัย ตอน บ.เมืองเตา – อ. เกษตรวิสัย   จ.ร้อยเอ็ด ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร แล้วเสร็จ ตามนโยบายด้านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับทางหลวงหมายเลข 202 เป็นทางหลวงสายสำคัญในการเดินทางของภาคอีสาน  ทางหลวงสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่ แยกทางหลวงหมายเลข 201 บริเวณสี่แยกโรงต้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ผ่านพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์       จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ สิ้นสุดที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี  ระยะทางรวมทั้งหมด 387 กิโลเมตร  โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 380 กิโลเมตร  ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ก่อสร้างขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ 148 กิโลเมตร 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับที่ต้องมีการดำเนินการก่อสร้าง เนื่องด้วยมีผู้ใช้เส้นทางสายนี้เป็นจำนวนมากและมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกๆปี ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเนื่องจากมีขนาด 2 ช่องจราจร กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญจึงได้ปรับปรุงขยายทางหลวงสายดังกล่าวในส่วนที่เหลือ โดยขณะนี้มีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นระยะทาง 81 กิโลเมตร  และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างอีกระยะทาง 135.4 กิโลเมตร  

และปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร  ระหว่าง กม.162+000 – กม.164+024 , กม.165+411 – กม.167+300 และ กม.172+000 – กม.183+772  โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ)        ผิวทางและไหล่ทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต   ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ส่วนไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร พร้อมปรับปรุงเกาะกลาง มีการก่อสร้างสะพานเพื่อให้รถขนาดเล็กสามารถลอดกลับใต้สะพานได้ จำนวน 2 แห่ง และก่อสร้างสะพานข้ามคลอง จำนวน 5 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง งบประมาณ 796,296,000 บาท

ทั้งนี้เมื่อมีการโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  ช่วยลดอุบัติเหตุในการเดินทางบนถนน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ