ทอท.พร้อมเต็มร้อยเข้าบริหาร 3 สนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” มั่นใจเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายแถมเพิ่มศักยภาพการบินของประเทศ เพิ่มฮับอีสานเหนือ-ใต้

ทอท.เชื่อมั่นการรับบริหาร 3 สนามบิน”กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์  “เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แถมเพิ่มศักยภาพการบินของประเทศ เพิ่มฮับอีสานเหนือ -ใต้ ด้าน ทย. ไม่เสียประโยชน์ เงินเข้ากองทุนฯ ยังเหมือนเดิม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยถึงความคืบหน้าในการรับมอบท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่งคือ สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์  มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท. นั้นว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยการที่จะเป็น ฮับได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาทั้งในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รูปแบบการก่อสร้างและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ตลอดจนถึงแผนการตลาดของผู้บริหารท่าอากาศยาน ควบคู่กันไปโดยองค์รวม และในปัจจุบัน ทอท.มีท่าอากาศยานที่เป็น ฮับอยู่แล้ว ได้แก่ ฮับทางภาคเหนือคือ สนามบินเชียงใหม่  ฮับ ทางใต้คือ สนามบินภูเก็ต   รวมถึง ฮับ ภาคกลางคือ ท่สนามบินดอนเมือง  และสนามบินสุวรรณภูมิ   ซึ่งท่าอากาศยานต่างๆ ดังกล่าวนอกจากจะมีความแออัดบนภาคพื้นแล้ว ยังมีความแออัดบนห้วงอากาศที่ยากต่อการบริหารจัดการไม่แพ้กันด้วย

ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารห้วงอากาศทางภาคอีสานที่ยังว่าง ทอท. จึงเห็นความเหมาะสมในการเข้าไปพัฒนาท่าอากาศยานในภาคอีสานให้เป็น ฮับของประเทศเพิ่มเติมโดยรับโอนสนามบินอุดรธานี และ สนามบินบุรีรัมย์มาอยู่กับ ทอท. โดยทางอีสานเหนือคือ สนามบินอุดรธานี จะผลักดันให้เป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนอีสานใต้คือ สนามบินบุรีรัมย์ จะผลักดันให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น ฮับตามนโยบายที่จะยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของรัฐบาล

ในขณะที่ สนามบินกระบี่ ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น ฮับทางภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ที่ สนามบินภูเก็ต จะกลับมารองรับผู้โดยสารเกินศักยภาพอีกครั้งหลังหมดวิกฤตโควิดในเวลาอันสั้น โดยในการยกระดับท่าอากาศยาน ทั้ง 3 เป็น ฮับนั้นในส่วนของ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น ทอท.หรือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริหาร ก็จะอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ต้องถูกตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

นายนิตินัย กล่าวเชื่อมั่นว่า การเข้าบริหารท่าอากาศยานของ ทอท. นี้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์กล่าวคือ ประเทศได้ประโยชน์ เพราะ 1) จะเป็นการแก้ข้อจำกัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบินโดยเฉพาะข้อจำกัดด้านการจราจรบนน่านฟ้า 2)  ลดการใช้งบประมาณ  ผู้โดยสารได้ประโยชน์ เพราะ จะได้รับความสะดวกโดยมีไฟล์ตบินตรงไปสู่ท่าอากาศยานปลายทาง และ ผู้โดยสารที่จะบินไปต่างประเทศไม่เสียค่าธรรมเนียมสนามบิน หรือ PSC ซ้ำซ้อนเนื่องจากเป็นการบินตรง ไม่ต้องบินมาต่อเครื่องฯ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้เสียค่า PSC อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันทาง ทย.ก็จะไม่เสียประโยชน์จากการโอน 3 สนามบินมายัง ทอท. เนื่องจาก ทอท. จะยังคงพิจารณาสนับสนุนเงินอุดหนุนให้ ทย.เช่นเดิมผ่านกองทุน ทย.เช่นเดิม ซึ่งจะเป็นรายได้ให้ ทย.นำไปพัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทอท.น่าจะเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาลในการยกระดับอุตสาหกรรมทางการบินของประเทศได้จากความได้เปรียบใน 2 ประเด็น คือ (1) ด้านอุปทาน กล่าวคือ ในการเป็นสนามบินที่สำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่งสหรัฐ (Transportation Security Administration : TSA) ของสหรัฐอเมริกา และสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA) ยอมรับในมาตรฐานความปลอดภัยได้นั้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่หน่วยงานข้างต้นรับรอง อาทิ เครื่องเอกซเรย์ที่ตรวจจับวัตถุระเบิด (Explosive Detection X-ray) เครื่องตรวจค้นร่างกาย (Body Scanner) เครื่องตรวจจับร่องร่อยวัตถุระเบิด (Explosive Trace Detection) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาสูงมาก หาก ทอท.เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานฯ ก็จะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณได้จำนวนมหาศาลในการพัฒนาท่าอากาศยาน ซึ่งมีความจำเป็นในการต่อยอดจากปัจจุบัน 

และ (2) ในด้านอุปสงค์ จากสถิติการเดินทางของผู้โดยสารของ ทอท.ในปี 62 ก่อนวิกฤตการณ์ โควิด-19 พบว่า ทอท. มีส่วนแบ่งการตลาด  85% ของผู้โดยสารทั้งหมดของประเทศ โดยจากผู้โดยสารต่างประเทศส่วนใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนเครื่อง (Transfer) ที่สนามบินสุวรรรภูมิ  หรือ สนามบินดอนเมือง  ไปยัง สนามบินอุดรธานี ท่สนามบินกระบี่ และ สนามบินบุรีรัมย์ 

ดังนั้น หากมีการพัฒนาท่าอากาศยานข้างต้นนี้ ให้ได้ตามมาตรฐาน TSA และ EASA นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถบินตรงไปยังท่าอากาศยานปลายทางแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานปลายทางจากการเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) และยังเป็นการลดความแออัดบนน่านฟ้าที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ